xs
xsm
sm
md
lg

โพล มธ.ส่วนใหญ่หนุนเรียกรถผ่านแอปถูก กม. ค้านระบบโควตาคนขับ หวั่นซ้ำรอยวินมาเฟีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มธ.เปิดผลสำรวจคนไทย 92% หนุน “เรียกรถผ่านแอป” ถูกกฎหมาย แต่ค้านระบบ “โควตาคนขับ” หวั่นปิดโอกาสทำกิน สร้างระบบมาเฟียเหมือนวินมอเตอร์ไซค์

วันนี้ (28 ม.ค.) ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นคนไทยที่มีต่อนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ได้ส่งเสริมและผลักดันให้การนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชัน หรือบริการ “เรียกรถผ่านแอป” สามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมาย

โดยได้สำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ จากกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้นจำนวน 3,914 คน ครอบคลุมทั้งประชาชนทั่วไป คนขับรถยนต์ส่วนบุคคลที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอป รวมถึงคนขับแท็กซี่

ผลการสำรวจพบว่า 92.3% ของกลุ่มตัวอย่าง ทั้งประชาชนทั่วไปและคนขับรถยนต์ที่ให้บริการผ่านแอป ต่างเห็นด้วยกับการส่งเสริมให้มีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ให้บริการรับส่งผู้โดยสารสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันอย่างถูกกฎหมาย ขณะที่มีเพียง 7.7% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างยังได้ระบุว่า การส่งเสริมให้บริการดังกล่าวถูกกฎหมายจะเป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 78.1% เห็นว่าบริการดังกล่าวช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค เนื่องจากใช้งานง่าย มีบริการตลอด 24 ชั่วโมง 77.7% เห็นว่าช่วยยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการเดินทาง เพราะมีข้อมูลคนขับและทะเบียนรถเป็นหลักฐาน มีเทคโนโลยีติดตามการเดินทาง 71.8% บอกว่าบริการดังกล่าวมีความโปร่งใส เนื่องจากมีการแจ้งราคาค่าบริการให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้า 71% มองว่าบริการดังกล่าวเป็นช่องทางในการสร้างอาชีพเสริมให้คนไทย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด 69% เห็นว่าบริการดังกล่าวช่วยส่งเสริมให้นำสินทรัพย์ที่มีอยู่ (เช่น รถยนต์) มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 66.88% เชื่อว่าจะลดปัญหาคนขับรถปฏิเสธผู้โดยสาร

ในด้านความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลในการผลักดันการออกกฎหมายดังกล่าว ประชาชนทั่วไปกว่า 83% อยากให้บริการเรียกรถผ่านแอปถูกกฎหมายภายในปีนี้ โดย 44.8% ของคนกลุ่มนี้อยากเห็นกฎหมายดังกล่าวถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการภายในไตรมาสแรก สอดคล้องกับความคิดเห็นของกลุ่มคนขับรถยนต์ที่ให้บริการเรียกรถผ่านเเอป อย่างไรก็ดี มีคนขับจำนวนถึงเกือบ 30% ที่ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันกฎหมายนี้ได้สำเร็จ

ต่อประเด็นที่ภาครัฐอาจจะมีการจำกัดจำนวนรถยนต์ หรือจำนวนคนขับที่จะมาให้บริการดังกล่าว 64.3% ของกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยกับกำหนดโควตา โดย 69.4% ของกลุ่มคนขับที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า การจำกัดจำนวนรถหรือคนขับนั้นเป็นการปิดกั้นโอกาสการทำมาหากินหรือการหารายได้เสริมของคนไทย ขณะที่ 22.1% มองว่าการมีโควต้าอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การซื้อขายใบอนุญาต หรือการระบบมาเฟียเหมือนการซื้อขายเสื้อวินมอเตอไซค์ เป็นต้น

ในขณะที่กลุ่มประชาชนทั่วไปมองประเด็นการซื้อขายใบอนุญาต หรือระบบมาเฟียว่าเป็นปัญหาหลัก สูงถึง 40.5% นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อปัญหาเรื่องจำนวนรถที่อาจไม่เพียงกับความต้องการถึง 23.6%

ส่วนกลุ่มผู้ที่เห็นด้วยกับการกำหนดโควตานั้น 74.4% บอกว่าต้องการจำกัดจำนวนผู้ที่จะเข้ามาทำอาชีพนี้ไม่ให้มีมากจนเกินไป ขณะที่ 11.2% ต้องการสงวนอาชีพนี้ให้กับคนขับแท็กซี่แบบดั้งเดิมเท่านั้น

สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการ พบว่า 97.1% คาดหวังว่ารถยนต์ที่จะให้บริการดังกล่าวต้องแสดงราคาผ่านแอปพลิเคชันให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าก่อนใช้บริการ 80% ของประชาชนทั่วไปเห็นด้วยกับการติดป้ายหรือสัญลักษณ์ที่ตัวรถเพื่อแสดงว่าเป็นรถให้บริการทางเลือก ขณะที่กลุ่มคนขับรถที่ให้บริการผ่านแอปกว่า 65% กลับไม่เห็นด้วย

ในประเด็นด้านอายุของรถยนต์ที่จะนำมาให้บริการ 75.1% ระบุว่าต้องการให้ภาครัฐอนุญาตให้มีอายุได้ถึง 12 ปีเช่นเดียวกับรถแท็กซี่

นอกจากนี้ 55.6% เห็นด้วยกับการจำกัดให้นำรถยนต์มาจดทะเบียนเพื่อให้บริการได้เพียง 1 คันต่อคนเท่านั้น ขณะที่ 44.4% ไม่เห็นด้วย

แท็กซี่ก็เห็นด้วย “เรียกรถผ่านแอป” ถูกกฎหมายนอกจากประชาชนทั่วไปและคนขับรถยนต์ที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอปแล้ว ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในกลุ่มคนขับแท็กซี่จำนวน 2,436 คนด้วย โดยพบว่า

มากกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนขับแท็กซี่ (56.3%) เห็นด้วยกับการส่งเสริมให้นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ให้บริการรับส่งผู้โดยสารสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันอย่างถูกกฎหมาย ขณะที่ 43.7% ยังคงไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่คนขับแท็กซี่มีความกังวลมากที่สุด คือ ต้นทุนการประกอบอาชีพซึ่งปัจจุบันคนขับรถแท็กซี่มีต้นทุนในการให้บริการที่สูงกว่าคนขับรถยนต์ส่วนบุคคล (62.6%) รวมถึงข้อกำหนดในการให้บริการของคนขับแท็กซี่ซึ่งมีความเข้มงวดมากกว่า (53.6%)

ในด้านความคาดหวังที่มีต่อภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือคนขับแท็กซี่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น 39.3% ต้องการให้ช่วยลดต้นทุนจากภาระที่ไม่จำเป็น เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เเละค่าบริการรายเดือนของระบบเเท็กซี่ที่ภาครัฐกำหนดไว้ รวมทั้งช่วยควบคุมราคาเชื้อเพลิง เช่น น้ำมัน หรือก๊าซเอ็นจีวี, แอลพีจี เป็นต้น 33.5% คาดหวังให้มีการปรับราคามิเตอร์ให้สูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนและสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน 20.3% อยากให้ปรับลดหรือผ่อนผันข้อกำหนดต่างๆ ของรถแท็กซี่ เช่น การขยายอายุรถ การอนุญาตให้ใช้รถต่ำกว่า 1600 ซีซี ได้ เป็นต้น ขณะที่มีเพียง 4% เท่านั้นที่อยากให้มีการกำหนดโควต้าของผู้ที่จะนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการเรียกรถผ่านแอป

ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว หัวหน้าโครงการวิจัย แสดงความคิดเห็นที่มีต่อร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนแบบบริการทางเลือก ซึ่งประกาศโดยกรมการขนส่งทางบก ว่า นับเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐจะทำให้การ เรียกรถส่วนบุคคลผ่านเเอปถูกกฎหมาย ซึ่งกฎหมายนี้นับว่าเป็นกฎหมายเเรกที่รัฐจะออกมารับรองรูปเเบบการให้บริการของธุรกิจดิจิทัลบนพื้นฐานเศรษฐกิจเเบ่งปัน (Sharing Economy) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ทั้งยังช่วยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเด็นที่น่าเป็นห่วงในกฎหมายฉบับนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น