สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเน้นให้ความสำคัญต่อการปรับองค์กรไปสู่รัฐบาลดิจิทัล 4.0 โดยใช้ระบบดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานในด้านต่าง ๆ การลดการใช้กระดาษ การ work from homeและริเริ่มดำเนินการในการจัดทำระบบสำนักงานฯ ให้เป็นรูปแบบดิจิทัล การรับส่งหนังสือราชการผ่านระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ตั้งแต่มีการระบาดรอบแรก และสำนักงานฯ ได้เน้นการขับเคลื่อนการปฏิบัติราชการเพื่อให้สามารถปฏิบัติราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยได้ใช้รูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อป้องกันและเป็นการลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ทำให้สามารถจัดทำร่างกฎหมายออกมาได้ทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ และทันต่อความต้องการของประชาชน มุ่งเน้นการพัฒนากฎหมายให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น(Better Regulation for Better Life)
กระแสโลกยุคดิจิทัลในปัจจุบันได้นำความเปลี่ยนแปลงเข้ามาสู่การดำเนินชีวิตอย่างรวดเร็ว มีการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และทันสมัยมากขึ้นซึ่งทำให้ภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทันต่อความต้องการของประชาชนในการให้บริการในด้านต่าง ๆ ทำให้ประชาชนเกิดความสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัยในด้านข้อมูลทางเทคโนโลยี
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการของส่วนราชการต่าง ๆ ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563เห็นสมควรให้มีกฎหมายกลางที่เปลี่ยนแปลงการทำงานของภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัล โดยมีหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่งให้การอนุมัติอนุญาตการจดทะเบียน การแจ้งตามกฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่นั้น สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย โดยถือว่าเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นแล้ว ประการที่สอง ให้การรับส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐทั้งภายในและภายนอกต้องสามารถกระทำได้โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความมั่นคงปลอดภัย สำหรับการดำเนินการในประการที่สองนั้น เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การเชื่อมโยงระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ระหว่าง 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศและปรับปรุงแก้ไขระเบียบงานสารบรรณ รวมทั้งกระบวนวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยดำเนินการในรูปแบบคณะทำงานร่วมกันของทั้งเจ็ดหน่วยงานและเชื่อมโยงระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐทุกหน่วยงานให้ได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลร่วมกับร่างกฎหมายกลางเพื่อเปลี่ยนกระบวนการทำงานของภาครัฐตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นระบบดิจิทัลโดยเร็วเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนโดยนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการขออนุมัติอนุญาตการขึ้นทะเบียนการจดทะเบียนและการแจ้งเพื่อประกอบกิจการของประชาชนรวมทั้งการรับเงินและการออกใบเสร็จรับเงินของหน่วยงานของรัฐนอกจากนั้นกฎระเบียบเกี่ยวกับการสั่งและการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐตลอดจนการมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนยังคงมีข้อจำกัดในการดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เช่นเดียวกัน ซึ่งคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎหมายกลางที่เปลี่ยนกระบวนการทำงานของภาครัฐตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นระบบดิจิทัล (Digital Ecosystem)เพื่อให้ประชาชนเกิดความสะดวก ทำให้ไม่เกิดภาระและต้นทุนที่ไม่จำเป็นแก่ประชาชนและช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นฯ โดยสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการจัดทำกฎหมายกลางฯ และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 นี้