กระทรวงศึกษาธิการ จับมือสาธารณสุขผสานพลังพัฒนาหลักสูตรอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพจากส่วนของกัญชา-กัญชง สู่ “ตำรับยิ้ม” เปิดโอกาสเชฟทั่วประเทศร่วมเรียนรู้
วันนี้ (20 ม.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการเรียนรู้การประกอบธุรกิจจากส่วนของพืชกัญชาและกัญชงที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ
โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 2 หน่วยงาน ณ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี
ดร.กนกวรรณกล่าวว่า หลังจากมีประกาศปลดล็อกบางส่วนของกัญชา และกัญชง ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ยกเว้นช่อดอก และเมล็ดกัญชา โดยส่วนที่นำมาใช้นั้น ได้แก่ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก ซึ่งไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เปิดตำรับ “เมนูกัญชา” ปลดล็อก-ต่อยอด สู่อาหารสุขภาพที่ยั่งยืน จนนำไปสู่ “การเปิดครัวตำรับยิ้ม” โดยให้เชฟทั่วประเทศได้ลงทะเบียนร่วมเรียนรู้ โดยจะครอบคลุมในทุกผลิตภัณฑ์และบริการที่กัญชาและกัญชงมีศักยภาพ และปัจจุบันก็มีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางของพืชกัญชา และกัญชง ทั้งการรักษาโรค และการส่งเสริมสุขภาพ มีการศึกษาในต่างประเทศว่าการบริโภคกัญชา กัญชงปริมาณน้อยๆ จะช่วยเสริมฤทธิ์การทำงานของสารกัญชาในร่างกาย ทำให้มีสมาธิ และมีความคิดสร้างสรรค์ แต่การใส่ในปริมาณมากก็อาจมีผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับองค์ความรู้การใช้ดั้งเดิมของคนไทย และเป็นไปตามองค์ความรู้ดั้งเดิมและงานวิจัยในปัจจุบัน ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการโดย สำนักงาน กศน. และกระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริม พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องต่อผู้เรียน และประชาชนอย่างยั่งยืนโดยร่วมส่งเสริม สนับสนุน ศึกษา ค้นคว้าและพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการหน่วยงาน องค์กร นักศึกษา ประชาชน และเครือข่าย ตลอดจนร่วมจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) จะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการพัฒนาหลักสูตร โดยเน้นการผสานภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทยกับงานวิจัยสมัยใหม่ เพื่อทำให้หลักสูตรมีความถูกต้อง ปลอดภัยและทันสมัย ในระยะแรกหลักสูตรจะเน้นเรื่องการพัฒนาหลักสูตรธุรกิจอาหารสุขภาพ และจะต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สุดท้ายเป็นเรื่องสปาและการท่องเที่ยวในระยะต่อไป โดยกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข สามารถประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านหลักสูตรเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และการใช้ประโยชน์จากส่วนของพืชกัญชาและกัญชงที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดแก่ผู้ที่สนใจต่อไปปลัดกระทรวงศึกษาธิการ