“อนุพงษ์” ชี้ ทำความเข้าใจชาวสมุทรสาคร จำเป็นตั้ง รพ.สนาม ดูแลต่างด้าว แต่ต้องไม่กระทบ ปชช. เร่งดูแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียน
วันนี้ (25 ธ.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประชาชนชาวสมุทรสาครคัดค้านการตั้งโรงพยาบาลสนาม ว่า ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร มีจำนวนแรงงานเป็นจำนวนมาก และพื้นที่บริเวณตลาดกลางกุ้ง เป็นพื้นที่จำกัด มีการตรวจโควิด-19 พบว่า มีแรงงานส่วนหนึ่งที่ติดเชื้อ หากไม่มีการตรวจแยกโรคและให้ไปอยู่รวมกันจะตรวจโดยเสียเปล่า ไม่เกิดประโยชน์ ทำให้คนที่ไม่ติดมีโอกาสติด และคนที่ต้องได้รับการรักษาจำเป็นต้องมีสถานที่ คณะกรรมการควบคุมโรคของจังหวัด จึงได้หารือและขอรับการสนับสนุนเตียงสนามจากกองทัพบกเพื่อเตรียมการ
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพราะเป็นความจำเป็นที่จะต้องมี เพราะพื้นที่ข้างในอาจจะไม่เพียงพอ ฉะนั้น ต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ทางสาธารณสุข ต้องคำนึงถึงสิ่งที่ต้องไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน และต้องมีความปลอดภัย ว่านี่คือความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีโรงพยาบาลสนาม หากตรวจเจอมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่แยกออกมารักษา ก็จะเกิดปัญหาในอนาคตได้ จะต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมและมีมาตรการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ก็จะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้
เมื่อถามถึงกรณีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวชั่วคราว พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกันมีทั้งการทำ เพื่อให้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ และสามารถทำงานได้ต้องมีมาตรการตรวจโรค โดยการประชุมที่กระทรวงแรงงานในวันเดียวกันนี้ จะต้องรอสรุป โดยกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้นำเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีข้อเสนอเพื่อกำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานต่างๆ ทำอะไรบ้าง เช่น ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการทำบัตรสีชมพูแรงงานต่างด้าว ส่วนกระทรวงแรงงานมีหน้าที่กำหนดให้ใบอนุญาตการทำงานและอายุการทำงาน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขจะทำหน้าที่ในขั้นตอนตรวจร่างกาย
เมื่อถามว่า ส่วนแรงงานที่ผิดกฎหมายที่ยังไม่สามารถนำเข้าสู่ระบบได้จะแก้ปัญหาอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ได้ชี้แจงอย่างไม่เป็นทางการกับผู้ประกอบการไปแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ ย้ำว่า ขอให้อย่าเคลื่อนย้ายแรงงาน แต่จะต้องรอการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่ได้กำชับให้ผู้ประกอบการสำรวจแรงงานว่ามีมากน้อยเท่าไหร่ เพื่อจะได้ใช้เป็นฐานข้อมูล เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้าย ย้ำว่า ขออย่าตื่นตระหนก อย่างไรก็ตาม หากโรงงานหรือผู้ประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัตรสีชมพู หากเจ้าหน้าที่รัฐตรวจพบก็จะสามารถดำเนินการเอาผิดได้