สตง.เปิดผลตรวจสอบ “โครงการยกระดับการท่องเที่ยวปริมณฑล” ปีเดียว 2562 ใช้งบ 183 ล้าน พบปัญหาแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง “นครปฐม-นนทบุรี-สมุทรปราการ” นักท่องเที่ยวแห่เที่ยวแค่วันหยุด “เสาร์-อาทิตย์” แม้สิ่งก่อสร้างอำนวยความสะดวก เพียบ! ทั้งในห้องน้ำในวัด-ศาลาพักผ่อนหย่อนใจ-แพจำหน่ายสินค้า-ที่จอดจักรยาน คนใช้ประโยชน์กลับเป็นคนในชุมชน แถม “งานแสดงสินค้าพื้นที่ปริมณฑล” มีแต่พ่อค้าแม่ค้า หน้าเดิมๆ
วันนี้ (24 ธ.ค.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.ได้สรุปผลการการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามแผนงานบูรณาการส่งเสริมการพัฒนากลุ่มจังหวัด ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมอย่างครบวงจร ภายใต้โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล ปีงบประมาณ 2562 วงเงินงบประมาณ 183.86 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย จ.นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และ สมุทรปราการ
สำหรับการตรวจสอบที่น่าสนใจ พบว่า 27 กิจกรรม ด้านการท่อเที่ยว ในภาพรวม ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่โครงการกำหนด กล่าวคือ กิจกรรมย่อยด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในแหล่งท่องเที่ยวบางกิจกรรม ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ในการใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว และกิจกรรมการจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ไม่ก่อให้เกิดการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล
ในกิจกรรมย่อยด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 8 กิจกรรมที่มีการใช้ประโยชน์สนับสนุนการท่องเที่ยว งบประมาณ 28.32 ล้านบาท 4 แห่ง ได้แก่ ตลาดน้ำลำพญา ทุ่งบัวแดง วัดสว่างอารมณ์ จ.นครปฐม และตลาดน้ำไทรน้อย จ.นนทบุรี ซึ่งจะเห็นว่า แหล่งท่องเที่ยวทั้ง 4 แห่ง เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว เมื่อมีการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกประเภท ถนน ห้องน้ำ ป้าย และซุ้มจำหน่ายสินค้า ก็จะมีการใช้ประโยชน์เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมในแหล่งท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมย่อยด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีการใช้ประโยชน์ในลักษณะอื่น พบว่า ยังไม่สนับสนุนการท่องเที่ยว จาก 6 กิจกรรม งบประมาณ 74.30 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการในแหล่งท่องเที่ยว 4 แห่ง ได้แก่ ต้นยางสามยอด เกาะลัดอีแท่น ตลาดน้ำคลองจินดา จ.นครปฐม และเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี
โดยพบว่า สถานที่ดำเนินกิจกรรม 3 แห่ง ใน จ.นครปฐม เป็นสถานที่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ยังไม่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป สิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการที่เป็นถนน และศาลาพักผ่อนหย่อนใจ มีการใช้ประโยชน์เฉพาะประชาชนในชุมชนเท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมในสถานที่ดังกล่าว
ทำให้สิ่งก่อสร้างตามโครงการฯ ที่ดำเนินการในพื้นที่ตลาดน้ำคลองจินดา ต.คลองจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม มีการดำเนินกิจกรรมย่อยด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมปรับปรุงภูมิทัศน์ พร้อมก่อสร้างศาลาเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ (คลองจินดา) หมู่ที่ 3 และบริเวณวัดปรีดาราม หมู่ที่ 5 ต.คลองจินดา มีที่ทำการปกครองอำเภอสามพรานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ
โดยทั้งสองกิจกรรมเป็นการก่อสร้างศาลา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มานั่งพักผ่อน จากการสัมภาษณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองจินดา และประชาชนที่มาใช้ศาลาดังกล่าว ทราบว่า การใช้ประโยชน์ศาลาพักผ่อนหย่อนใจบริเวณหมู่ 3 เป็นการใช้ประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่มานั่งพักผ่อน ขายของ และจัดการประชุมของหมู่บ้าน
สำหรับศาลาพักผ่อนหย่อนใจ ที่ก่อสร้างไว้ในบริเวณวัดปรีดาราม มีการใช้ประโยชน์ในการประกอบพิธีการ ทางศาสนาของประชาชนที่เข้ามาทำกิจกรรมภายในวัด ยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้ประโยชน์จากศาลาพักผ่อนหย่อนใจ ทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากในพื้นที่ ยังไม่มีสิ่งดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชม มีเพียงนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มนักปั่นจักรยาน ที่จะเข้ามาปั่นจักรยานในพื้นที่ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เท่านั้น
นอกจากนั้น ยังมีอีก 5 กิจกรรม งบประมาณ 17.67 ล้านบาท ดำเนินการในแหล่งท่องเที่ยว 3 แหล่ง ได้แก่ ตลาดน้ำวัดบางเลน เกาะลัดอีแท่น และชุมชนบ้านเกษตรกรตำบลไร่ขิง จ.นครปฐม สิ่งก่อสร้างตามโครงการฯ ที่ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งในส่วนของห้องน้ำ แพจำหน่ายสินค้า และที่จอดจักรยาน ยังไม่มีการไปใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ทั้งในส่วนของการให้บริการนักท่องเที่ยวและประชาชนในชุมชน
เช่นเดียวกับ สิ่งก่อสร้าง เช่น ห้องน้ำเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และกิจกรรมก่อสร้างแพจำหน่ายสินค้า มีสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครปฐม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ จากการสัมภาษณ์เจ้าอาวาสวัดบางเลน ทราบว่า ก่อนมีการดำเนินกิจกรรมทางวัดได้รับการสนับสนุนห้องน้ำและแพจำหน่ายสินค้าจากสำนักงานโยธาธิการและ ผังเมืองจังหวัดนครปฐมมาก่อน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันห่างจากห้องน้ำของกิจกรรมไม่ไกลนัก
จากการสังเกตการณ์พื้นที่ดำเนินกิจกรรมเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 พบว่า ห้องน้ำ และแพจำหน่ายสินค้า ยังไม่มีการเปิดใช้งาน โดยห้องน้ำทางวัดได้ล็อคประตูด้านหน้า และปิดระบบน้ำไว้ ซึ่งปัจจุบันห้องน้ำมีสภาพเสื่อมโทรม เต็มไปด้วยฝุ่น ใยแมงมุม และอุปกรณ์บางส่วนชำรุด สำหรับแพจำหน่ายสินค้า ยังไม่ได้เปิดให้จำหน่ายสินค้าหรือมีการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นแต่อย่างใด และพื้นแพบางจุดเริ่มชำรุด
นอกจากนั้น ยังมีประเมินผลสัมฤทธิ์ของการจัดงานแสดงสินค้า พบว่า มีกลุ่มผู้รับประโยชน์เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่นำสินค้าไปจำหน่ายในงานรวม 345 ราย ซึ่งในจำนวนนี้บางส่วนเป็นผู้จำหน่ายสินค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมงานแสดงสินค้ามากกว่า 1 งาน จะเป็นผู้ประกอบการรายเดิมๆ ยังไม่มีการจัดระบบการคัดสรรผู้ประกอบการที่เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ได้เข้ามาร่วมงาน
โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์งบประมาณรวม 9.75 ล้านบาท ของจังหวัดแห่งหนึ่ง พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงสถานที่และช่วงเวลาที่จะจัดงานแสดงสินค้าเท่านั้น