xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.แย้ง กสทช.อ้างโควิด-19 ยืดเวลารับฟังความเห็นสาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





วุฒิสภา - กมธ.เทคโนโลยีสารสนเทศ วุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตสถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่อุปสรรคให้การรับฟังความเห็น ในการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการขออนุญาตประกอบกิจการฯเพิ่มเติม รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการโอนใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ กสทช. ล่าช้าจนส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ประเทศ หลัง กสทช.รายงานผลการเตรียมพร้อมในการตรากฎหมายประกอบพ.ร.บ.กสทช. จำนวน 4 ฉบับ นี่ประชุมวุฒิสภาวานนี้



ผลการรายงานต่อที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่มี ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณารายงานผลการเตรียมความพร้อมในการตราพระราชกฤษฎีกา(พรฎ.)ตามมาตรา 30 แห่ง พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม(พ.ร.บ.กสทช.) (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

สืบเนื่องจาก พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช.รายงานต่อวุฒิสภา ว่า กสทช.ได้ดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการตรากฎหมายจำนวน 4 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าวแล้ว ในจำนวนนี้มีสองฉบับที่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้คือการแก้ไขแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ และการจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตใช้คลื่นความถี่โดยวิธีอื่นนอกเหนือจากวิธีประมูล อีกสองฉบับ คือหลักเกณฑ์และวิธีการขออนุญาตประกอบกิจการฯเพิ่มเติมจากการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตและหลักเกณฑ์และวิธีการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งทาง กสทช.มีมติเห็นชอบหลักการของร่างประกาศแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ยังส่งผลกระทบต่อการออกไปรับฟังความคิดเห็นมีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชน

เฟซบุ๊กแฟนเพจ Talk with Dr.Niphon Naksompop ของดร.นิพนธ์ นาคสมภพ ในฐานะกรรมาธิการ และโฆษกคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมในประเด็นดังกล่าวเอาไว้ว่า


“รู้สึกแปลกใจว่าในการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ที่ กสทช.บอกว่าเป็นปัญหาในช่วงโควิด ต้องถามว่า ร่างหนึ่งเสร็จรึยัง ขอดูก่อน เพราะอ้างไม่ได้ว่าถ้าร่างหนึ่งยังไม่เสร็จและจะไปรับฟังความคิดเห็นคนในช่วงที่มีโควิด นอกจากนี้ถ้าร่างเสร็จแล้ว ถามว่า หนึ่งได้มีการแก้ไขการกำหนดการผูกขาดตลาด 1 ใน 3 หรือไม่ และได้มีการแก้ไขเรื่องการครอบงำความคิดคนเกิน 1 ใน 3 หรือไม่ สอง กสทช.รายงานทุกครั้งว่า กฎหมายไม่ให้ทำอย่างอื่น ยกเว้นการประมูล และใช้วิธีการประมูลด้วยเงินทุกครั้ง ทั้ง ๆ ที่มีการประมูลแบบอื่นอยู่”

ทั้งนี้ทาง ดร.นิพนธ์ ยังได้อ้างอิงสาระสำคัญ จากมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ และกำหนดว่าคลื่นความถี่ต้องเอาไปใช้โดยคำนึงประโยชน์ประชาชน ความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะ รัฐต้องกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำของคลื่นความถี่เพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะ โดย กสทช.เป็นองค์กรที่ต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 เช่นกัน

“ดังนั้นเมื่อการประมูลโดยการใช้เงินเกิดขึ้น อาจจะเข้าถึงผู้บริโภค แต่เข้าไม่ถึงประชาชน การประมูลด้วยเงินอาจเข้าถึงเศรษฐกิจแต่เข้าไม่ถึงวัฒนธรรม ที่สำคัญวิธีนี้อาจเข้าถึงตลาดแต่เข้าไม่ถึงพื้นที่สาธารณะ ที่สำคัญวันนี้ ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการใช้การสื่อสารของรัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ในต่างจังหวัด จึงต้องการให้ กสทช.ได้คำนึงข้อจำกัดเหล่านี้ด้วย” กรรมาธิการ และโฆษกคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร แลการโทรคมนาคม วุฒิสภา กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น