xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ทราบผลประเมินรัฐวิสาหกิจ ความสามารถทำกำไรลดต่อเนื่อง คลังแนะตัดทิ้ง อ.ต.ก.-อคส.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบผลการประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจปี 62 พบความสามารถในการทำกำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง ก.คลัง แนะเร่งพิจารณาการคงอยู่ของ อ.ต.ก.และ อคส.ก่อนสร้างความเสียหายให้งบประมาณแผ่นดิน
วันนี้ (22 ธ.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจประจำปี 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในระบบประเมินผลจำนวน 53 แห่ง พบว่า ณ สิ้นปีบัญชี 2562 รัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์รวม 15.90 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 4.37 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 4.79 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.55 ค่าใช้จ่ายลดลงร้อยละ 1.37 ส่งผลให้กำไรสุทธิโดยรวมลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อรายได้รวมคิดเป็นร้อยละ 6.46 ลดลงจากปี 2561 ที่อยู่ที่ร้อยละ 6.62 และอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 3.94 ลดลงจากปี 2561 ที่อยู่ที่ร้อยละ 4.37 สำหรับสาขาที่มีกำไรสุทธิมากที่สุด คือ สาขาพลังงาน สาขาสถาบันการเงิน และสาขาขนส่ง ตามลำดับ โดยรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรสูงสุด 3 อันดับแรกคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่มีผลขาดทุนสุทธิปี 2562 มีจำนวน 15 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 11 แห่ง ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ขนส่ง จำกัด, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, การรถไฟแห่งประเทศไทย, องค์การจัดการน้ำเสีย, องค์การตลาด, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.), องค์การสะพานปลา, องค์การคลังสินค้า (อคส.), การยางแห่งประเทศไทย, องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่สำคัญ เช่น รัฐวิสาหกิจในสาขาเกษตรทั้งหมดมีผลการประเมินในระดับต่ำ โดย อ.ต.ก.และ อคส.มีปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่ง อ.ต.ก.ประสบปัญหาสภาพคล่องและ อคส.มีปัญหาการจัดทำรายการทางการเงิน รวมทั้งภารกิจด้านการบริหารตลาดสินค้าของ อ.ต.ก.และการบริหารคลังสินค้าของ อคส. มีเอกชนดำเนินการได้ดี จึงต้องเร่งทบทวนบทบาทหรือพิจารณาการคงอยู่ของรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง ก่อนที่จะเกิดความเสียหายด้านงบประมาณแผ่นดิน


กำลังโหลดความคิดเห็น