สสส. ชวนคนสภาฯ เช็คสุขภาพรับปีใหม่ มอบ “สมุดพกสุขภาพ” เป็นของขวัญ ยกรัฐสภาต้นแบบองค์กรสุขภาวะ ครบ ชมรมออกกำลังกาย-โรงอาหารลดหวานมันเค็ม-คอร์สอบรมสุขภาพ ขยายผล 253 คนต้นแบบ “ชวน” ชี้ต้องทำให้ยั่งยืน ขยายไปหน่วยงานอื่น
วันนี้ (14 ธ.ค.)ที่อาคารรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยโครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบ : การสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรในวงงานรัฐสภา จัดกิจกรรม “สุขภาพดีตามวิถีของบุคลากรในวงงานรัฐสภา” โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การมีสุขภาพที่ดี มีกายและใจที่แข็งแรง จะทำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความผาสุกในการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคล และนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งแนวทางของ สสส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการฯ นี้จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพสู่การเป็นองค์กรสุขภาวะ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ รวมทั้งบุคลากรเกิดความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ เกิดพื้นที่ในการสร้างเสริมสุขภาพ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรในวงงานรัฐสภาอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า โครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบฯ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สสส. มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรในวงงานรัฐสภา มุ่งสร้างความตระหนักรู้แนวทางการมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ เสริมสร้างศักยภาพองค์กรสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข ตลอดจนการปรับทัศนคติด้านสุขภาพ รวมถึงพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมสุขภาพที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งหากได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจที่เหมาะสมจะเป็นการป้องกันกลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หรือเรียกว่าโรควิถีชีวิต อาทิ ไขมันในเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ให้กลับไปสู่กลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากรายงานผลการตรวจสุขภาพประจำปี 2562 ของบุคลากรประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พบว่า ร้อยละ 63 อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ร้อยละ 37 อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรค NCDs ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ รับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม และมีความเครียด โครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบฯ โดย สสส. ร่วมกับ สำนักงานเลขาฯ จึงมุ่งสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากรในวงงานรัฐสภาให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ผ่านการพัฒนา 4 กิจกรรม คือ 1. พัฒนากิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น ชมรมแอโรบิค ชมรมฟุตบอล ชมรมลีลาศ พร้อมจัดการสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพขององค์กร อบรมผู้ค้าอาหารปรุงเมนูลดหวาน มัน เค็ม จัดทำสื่อให้ความรู้เรื่องโภชนาการ
“กิจกรรมที่ 2 คือ พัฒนาคุณภาพชีวิต เกิดแกนนำนักสร้างสุของค์กร 253 คน นำแนวคิดสุขภาวะองค์กรไปประยุกต์ใช้ 3. พัฒนาการสื่อสารงานสุขภาพ พัฒนาคู่มือแนวทางการดูแลสุขภาพภายใต้สถานการณ์โควิด–19 พร้อมจัดเวทีเพื่อให้ความรู้เรื่องสุขภาพทุกเดือน และ 4. จัดทำคู่มือ “สุขภาพที่เหมาะสมสำหรับบุคลากรในวงงานรัฐสภา” เพื่อเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพประจำปี ประกอบด้วย การบันทึกการตรวจรักษา ทั้งระดับความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด สุขภาพตา เท้า และคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือด พร้อมให้ความรู้เรื่องโรค NCDs ในรูปแบบอินโฟกราฟิก 56 หน้า จำนวน 2,500 เล่มผ่านสำนักบริการทางการแพทย์รัฐสภา” ดร.สุปรีดา กล่าว