xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” แบะท่า หนุน ส.ส.ร.แบบผสม หวั่นเลือกตั้งทั้งหมดเกิดสภาผัวเมีย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หัวหน้า ปชป.หวั่นหาก ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด อาจได้นักการเมืองเข้ามาจำนวนมาก กลายเป็นสภาผัวเมียเหมือนสภาผู้แทนฯ กับวุฒิสภาในอดีต แต่ถ้าเลือกตั้งผสมกับการสรรหา จะได้ตัวแทนที่หลากหลาย ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ-นักศึกษา ซึ่งถ้าเลือกตั้งทั้งหมด อาจไม่ได้เข้ามาสักคน

วันนี้ (11 ธ.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีคำถามว่าควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้กำหนด ขณะนี้การแก้รัฐธรรมนูญผ่านการรับหลักการวาระที่ 1 แล้ว และอยู่ในวาระที่ 2 คือ ขั้นแปรญัตติ ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับกรรมาธิการที่จะเป็นผู้พิจารณาก่อนนำกลับมาพิจารณาในรัฐสภาใหญ่แล้วมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งในวาระที่ 3 เรื่อง ส.ส.ร.ซี่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าในจำนวนประมาณ 200 คน ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ หรือมาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่แล้วมาจากการสรรหาบางส่วนซึ่งมีข้อดีข้อด้อยด้วยกันทั้งสองส่วน

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ถ้าหากมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็อาจจะอ้างได้ว่า ประชาชนเป็นผู้เลือกมา แต่อาจมีจุดอ่อนได้ ถ้าผลการเลือกตั้งที่ออกมากลายเป็นผู้ที่อิงอยู่กับพรรคการเมือง หรือในเส้นสายทางการเมืองได้รับเลือกตั้งมาจำนวนมาก สุดท้ายอาจจะกลายเป็นคล้ายกับสภาผัวสภาเมียเหมือนที่เกิดขึ้นในวุฒิสมาชิก กับสภาผู้แทนราษฎรในอดีตได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าตนจะมีความเห็นอย่างนั้น แต่มีข้อท้วงติงได้ แต่ข้อดีคือสามารถอ้างได้ว่ามาจากการเลือกตั้งจากประชาชน

สำหรับรูปแบบผสม คือ มาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่ มาจากการสรรหาอีกจำนวนหนึ่งเหมือนกับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล คือ ให้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 150 คน และมาจากการสรรหา 50 คน ในจำนวน 50 คนนั้น ประกอบด้วย ตัวแทนของสภาผู้แทนจำนวนหนึ่ง วุฒิสมาชิกตัวแทนของวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง และอีก 20 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการสรรหาของที่ประชุมอธิการบดี หรือทางฝ่ายวิชาการและอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 10 คน มาจากตัวแทนนักศึกษา จะช่วยให้เกิดความหลากหลายขึ้น เพราะบางครั้งการเลือกตั้งทั้งหมด นักศึกษาอาจจะไม่ติดสักคนก็ได้ สุดท้ายก็จะไม่มีตัวแทนหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วโลกที่มีความรู้ความเข้าใจ อาจกลายเป็นจุดอ่อน จุดดีของรูปแบบนี้ คือ สามารถที่จะช่วยให้มีความหลากหลายและมีการผสมผสาน แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการที่จะเป็นผู้พิจารณา


กำลังโหลดความคิดเห็น