xs
xsm
sm
md
lg

“อุดม” แนะส่งตีความชี้ รธน.60 ไม่ให้ร่างใหม่หมด ระบุคนหนีคำสั่ง คสช.กลับไทย-ฟ้องกลับได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อุดม รัฐอมฤต (แฟ้มภาพ)
อดีต กรธ.เข้าให้ความเห็น กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ แนะส่งศาลตีความปมตั้ง ส.ส.ร. ชี้ รธน.60 ไม่ให้ร่างใหม่ทั้งฉบับ ชี้คำสั่งเรียก คสช.ขัด รธน. เปิดช่องให้ฟ้องกลับได้ คนหนีไปต่างประเทศเดินทางกลับมาได้เพราะไม่มีความผิดแล้ว

วันนี้ (3 ธ.ค.) การประชุมกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ ที่ประชุมมีการเชิญนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเข้าให้ความเห็นต่อแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 265 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญตามที่พรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอ

นายอุดมกล่าวในฐานะผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2540 เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2540 มาจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2534 ในสภาพสังคมที่ขณะนั้นต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงมีการกำหนดเงื่อนไขให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2560 นี้ที่ผ่านกระบวนการร่างขึ้นมาจากความเห็นของหลายฝ่าย และผ่านความเห็นชอบจากประชาชน จึงเห็นว่าการจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นจะต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีประเทศใดกำหนดให้สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราสามารถได้อยู่แล้ว เรื่องนี้กรรมาธิการเองต่างก็มีความเห็นแตกต่างกันว่าจะสามารถตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ส่วนตัวจึงเห็นว่าควรส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัดเจน แต่ก็มีผู้เสนอให้ใช้แนวทางตามมาตรา 5 ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาตามประเพณีการปกครอง

ส่วนที่ฝ่ายค้านเสนอให้มีการทำประชามติ 2 ครั้ง คือ การทำประชามติแก้ไขมาตรา 256 ครั้งแรก และการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร.ครั้งที่ 2 นั้น จากการหารือในวันนี้ประเด็นดังกล่าวไม่เป็นที่ถกเถียงมากนัก ส่วนใหญ่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพราะยอมรับในอำนาจของประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ความพยามแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ร่างมาเสียของหรือไม่นั้น นายอุดมกล่าวว่า พูดยากเพราะเป็นเรื่องของความรู้สึก จะบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ใช้เลยก็ไม่ได้ อย่างน้อยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นที่มาของรัฐสภาชุดนี้ และองค์กรต่างๆ ที่ใช้อำนาจในปัจจุบัน แต่ความพอใจในผลจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องของคนใช้รัฐธรรมนูญที่จะประเมิน โดยเฉพาะประชาชนที่ต้องถามว่าเขาพอใจรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ หรือจะต้องร่างกันใหม่

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ประเด็นหลักควรมองที่เนื้อหามากกว่าการจะมองว่าจะเอาฉบับใหม่หรือฉบับเดิม แต่ควรมองว่าเนื้อหาตรงนี้ที่ฉบับเดิมไม่ดีแล้วควรต้องแก้ไขใหม่

นายอุดมยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าคำสั่ง คสช.ที่ 29/57 เรื่องเรียกคนมารายงานตัว และคำสั่ง คสช.41/57 ถ้าไม่มารายงานตัวเป็นความผิด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญว่า คำสั่ง คสช.ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2557 แต่ก็เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มาตรา 279 รองรับการกระทำและการออกคำสั่งของ คสช. เพียงแต่ส่วนตัวเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญยื่นมือเข้ามาเพื่อให้ความคุ้มครอง โดยเฉพาะทำให้ตัวบทรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นบทเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ใช้ เพราะศาลฯให้เหตุผลเรื่องความไม่ได้สัดส่วนในการใช้โทษอาญามาลงกับคนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.และการมีคำสั่งเรียกควรให้เหตุผลตามสมควร โดยเป็นการสะท้อนว่าศาลรัฐธรรมนูญพยายามเข้าไปคุ้มครอง

“ส่วนใหญ่จะมีคำถามต่อมาว่า คสช.ผิดหรือไม่ ควรได้รับการเยียวยาหรือไม่ ผมเห็นว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ที่ส่วนใหญ่ต้องดูว่ารัฐจงใจประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ มีลักษณะที่จะกลั่นแกล้งหรือทำไปโดยไม่ดูดำดูดีกับคนทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องเรียกไม่มาแล้วไปจับ แต่หากคนบอกต้องทำให้หนีไปเช่าบ้าน ทนทุกข์ทรมาน ผมคิดว่าอาจจะยังอธิบายความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจงใจประมาทเลินเล่อร้ายแรงไม่ได้” นายอุดมกล่าว

นายอุดมกล่าวว่า ผู้ที่ถูกเรียกไปจะฟ้องกลับก็สามารถทำได้ แต่อยู่ที่ศาลจะเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรได้รับการเยียวยาหรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่ได้กลับคืนมาคือคดีสิ้นสุดโดยไม่ต้องขึ้นศาล และผู้ที่อยู่ต่างประเทศสามารถเดินทางกลับไทยได้เพราะในความผิดเหล่านี้ไม่มีแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น