กกต.เผยร้องเรียนทุจริตเลือกตั้งนายก-สมาชิก อบจ.แล้ว 21 เรื่อง ใน 11 จังหวัด แจงผู้สมัครขาดคุณสมบัติเหตุไม่ไปเลือกตั้ง ส.ส. เตือนระวังโพสต์-แชร์ผิดกฎหมายผิดเวลา เผยศาลลงโทษมาแล้ว
วันนี้ (23 พ.ย.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชัน “Smart Vote” แอปพลิเคชัน “ตาสับปะรด” สายด่วนเลือกตั้ง 1444 และศูนย์บริหารการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-War room) เพื่อรองรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ยืนยันความพร้อมในการอำนวยความสะดวกประชาชนไปสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ โดยแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวตจะมีข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งในวันที่ 24 พ.ย.จะมีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และในวันที่ 27 พ.ย. ผู้มีสิทธิเลืกตั้งสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลได้ว่าตนเองจะต้องไปใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้งใด ส่วนรายชื่อผู้สมัครนายกและสมาชิก อบจ.ทั่วประเทศจะสามารถดูรายละเอียดได้ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.
สำหรับแอปพลิเคชัน “ตาสับปะรด” ที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในแจ้งเหตุทุจริตการเลือกตั้งได้โดยกฎหมายใหม่มีการคุ้มครองพยานให้กับผู้ที่แจ้งเบาะแส และผู้ที่ถูกข่มขู่หลังแจ้งเรื่องให้ กกต. รวมทั้งสินบนรางวัลนำจับให้แก่ผู้แจ้งเบาะแส ขณะที่ศูนย์บริหารการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ (E - War Room) จะทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ วิเคราะห์ หากพบมีการโพสต์และแชร์ข้อความผิดกฎหมายก็จะมีการเสนอ กกต.พิจารณาสั่งดำเนินการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูล
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ยังให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครสมาชิกและนายก อบจ.ว่า จากจำนวนผู้สมัครนายก อบจ.76 จังหวัด 335 คน และผู้สมัครสมาชิก อบจ.8,186 คน พบว่ามีผู้สมัครที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ อบจ.ไม่ประกาศรายชื่อแยกเป็นผู้สมัครนายก อบจ.4 คน และผู้สมัครสมาชิก อบจ.116 คน ส่วนใหญ่จะขาดคุณสมบัติเนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมาแล้วไม่แจ้งเหตุจำเป็นต่อนายทะเบียนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ในจำนวนผู้สมัครที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อมีจำนวน 23 คน ยื่นคัดค้านการไม่ประกาศรายชื่อต่อ กกต. โดย กกต.จะพิจารณาในแล้วเสร็จภายใน 3 วัน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้คำวินิจฉัยของ กกต.ในกรณีคุณสมบัติของผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นที่สุด ส่วนที่มีผู้สมัครไม่ได้รับการประกาศรายชื่อเนื่องจากขาดคุณสมบัติเพราะถือครองหุ้นสื่อนั้น ขณะนี้สำนวนยังไม่ถึง กกต. แต่การวินิจฉัยก็จะยึดตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนเรื่องร้องเรียนทุจริตในขณะนี้ได้รับรายงานว่า มีทั้งหมด 21 เรื่อง ใน 11 จังหวัด เป็นเรื่องการซื้อเสียง 4 เรื่อง แชร์ข้อมูลผิดกฎหมาย 1 เรื่อง จึงอยากฝากในเรื่องของการแชร์โพสต์ต่างๆ ว่าในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อ 24 มี.ค. 62 ศาลได้สั่งลงโทษผู้ที่โพสต์ข้อความเนื้อหาใส่ร้ายผู้สมัครผ่านไลน์ โดยสั่งจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท จำเลยรับสารภาพจึงสั่งจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ดังนั้นผู้สมัคร หรือประชาชนทั่วไป การจะโพสต์หรือแชร์ข้อความจึงควรระมัดระวัง และแม้เนื้อหาถูกกฎหมาย แต่หากโพสต์ไม่ถูกเวลาก็ถือว่าผิดกฎหมาย โดยจะต้องไม่โพสต์หรือแชร์ข้อความตั้งแต่เวลา 18.00 น.ก่อนวันเลือกตั้งจนถึง 18.00 น.ของวันเลือกตั้ง