“ศรีสุวรรณ” จี้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้ง ครม.เอาผิด “อธิบดีกรมปศุสัตว์” เหตุไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะขยายเวลาบังคับใช้ ม.31 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ทำผู้ประกอบการเดือดร้อน
วันนี้ (18 พ.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมนายบริบูรณ์ ลออปักษิณ กรรมการผู้จัดการบริษัทเมอร์ลิน โฟรเซ่น ฟู๊ด จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่แช่แข็งที่ใช้สิทธิประโยชน์ในเขตปลอดอากร ท่าเรือแหลมฉบัง เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบหรือเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลงโทษอธิบดีกรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกรณีไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะและคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินลงวันที่ 25 ก.พ. ที่ให้กรมปศุสัตว์ ขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรา 31 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้การนำเข้า ส่งออก นำผ่านสัตว์ หรือซากสัตว์ในประเทศไทยต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมปศุสัตว์หรือบุคคลที่อธิบดีมอบหมายทุกครั้งเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคระบาด ในเขตปลอดอากรจากวันที่ 15 ม.ค. 63 ออกไปก่อนเพราะทำให้เกิดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมโดยไม่เป็นธรรม และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการที่ใช้สิทธิประโยชน์ในเขตปลอดอากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า หลังผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะดังกล่าวทางกรมปศุสัตว์ไม่ได้มีการแจ้งผู้ประกอบการว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้างตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจฯ แต่อยู่ดีๆ ก็มีหนังสือลงวันที่ 12 พ.ย. 63 แจ้งไปยังศุลกากรทั่วประเทศจะบังคับใช้ตามมาตรา 31 ในวันที่ 16 พ.ย. 63 ซึ่งถือว่าเป็นการออกหนังสือที่กระชั้นชิด ผิดปกติ ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีบริหารราชการทางปกครอง 2539 ที่จะกำหนดระยะเวลาให้ผู้เกี่ยวข้อง มีเวลาเตรียมตัวอย่างน้อย 30 วัน แต่การออกประกาศบังคับใช้ของกรมปศุสัตว์ในเรื่องนี้กลับมีเวลาให้ผู้ประกอบการปฏิบัติเพียง 2-3 วันจึงอาจเข้าข่ายเป็นการกลั่นแกล้งผู้ประกอบการ และไม่ปฎิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงขอให้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัยหาและรายงานไปยังคณะรัฐมนตรีถึงการปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบเพื่อเอาผิดอธิบดีกรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า เรื่องนี้มีเงื่อนเวลามาเกี่ยวข้องทางสำนักงานก็จะเร่งดำเนินการ โดยจะสอบถามไปทางกรมปศุสัตว์ว่ามีการดำเนินการอย่างไร และติดขัดในเรื่องใดจึงไม่มีการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งต้องฟังเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่มีการหารือกับผู้ประกอบการ และจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร