ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ซัดรัฐบาลสองมาตรฐานดูแลม็อบราษฎร-เสื้อเหลือง เหน็บฝั่งหนึ่งเสิร์ฟน้ำ อีกฝั่งฉีดน้ำ พร้อมถามหาคนหักค่าหัวคิวเบี้ยเลี้ยงตำรวจ “พล.อ.ชัยชาญ” แจงเสื้อเหลืองรับเสด็จ ไม่ใช่ม็อบแต่ร่วมงานราชพิธี ยกนโยบายนายกฯ ดูแลตำรวจเต็มที่
วันนี้ (4 พ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ นัดแรก มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาวาระกระทู้ถามสดของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่ากรณีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพื่อสลายการชุมนุมของประชาชนในพื้นที่ กทม.หลายครั้ง ที่ไม่ได้ขอหมายจากศาล และการดำเนินคดีของแกนนำผู้ชุมนุมและแนวร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพราะการชุมนุมทางการเมืองวันนี้มีหลายกลุ่มทั้งคนเสื้อเหลือง และกลุ่มราษฎร ซึ่งกลุ่มคนเสื้อเหลืองพบจัดกิจกรรมในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดโดยเป็นข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่น โดยคำชักชวนของรัฐมนตรีบางพรรค และผู้ว่าราชการจังหวัด พบการอำนวยความสะดวกอย่างดีจากรัฐ ไม่มีการสลายการชุมนุม บางกลุ่มเผยแพร่ผ่านเพจกรมประชาสัมพันธ์ และใกล้เขตพระราชฐาน ขณะที่กลุ่มราษฎรที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกทำร้ายจากคนอีกกลุ่ม แต่ไม่ได้รับความสะดวก พบการสลายการชุมนุมและนำรถผู้ต้องขังมารอรับ ขอตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่สองมาตรฐาน ฝั่งหนึ่งเสิร์ฟน้ำให้ อีกฝั่งฉีดน้ำใส่ ฝั่งหนึ่งมีรถห้องน้ำ อีกฝั่งมีรถผู้ต้องขังและอยากทราบว่าจนถึงวันนี้มีการดำเนินคดีต่อกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ไปทำร้ายร่างกายนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงว่ามีการดำเนินคดีแล้วหรือยัง นี่คือม็อบมีเส้นหรือไม่
ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงแทนนายกฯ โดยยืนยันว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามกฎหมาย และใช้หลักการสากล เช่น การชี้แจง การเจรจา และได้เตรียมหมอ พยาบาล เครื่องมือที่ใช้ดำเนินการ ซึ่งเป็นไปตามประกาศของนายกฯ ที่ยึดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลห่วงใยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอน ดูแลความปลอดภัยตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะถูกร้องเรียนว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลตระหนักถึงการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ แต่ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแม้รับรองสิทธิเสรีภาพ แต่มีเงื่อนไขคือต้องเป็นไปตามกฎหมายและไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น โดยเฉพาะพฤติกรรม ยั่วยุ ก้าวร้าว ก้าวล่วง เพื่อสร้างความเกลียดชังที่จะเป็นชนวนสร้างความแตกแยกในสังคม
พล.อ.ชัยชาญชี้แจงต่อว่า การตัดสินใจขอคืนพื้นที่ในวันที่ 13 ต.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะมีหมายกำหนดการขบวนเสด็จ เวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่จึงตรวจพื้นที่ เข้าเจรจาให้ผู้ชุมนุมรวมตัวบนทางเท้าเพื่อให้ปลอดภัยอย่างสมเกียรติ และก่อนจับกุมได้เจรจาโดยเจ้าหน้าที่ใช้ความอดทน แม้จะถูกสาดสี ส่วนวันที่ 14 ต.ค.มีคำถามเส้นทางหลัก เส้นทางรอง ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่หารือเพื่อปรับแนวทาง โดยเส้นทางรองต้องผ่านผู้ชุมนุมจำนวนมากเช่นกัน หากจะปรับทางอื่นต้องวางกำลังใหม่อาจทำได้ไม่เรียบร้อย ดังนั้น ทุกหน่วยงานได้วางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ส่วนการขอคืนพื้นที่ในวันที่ 16 ต.ค.ที่แยกปทุมวัน เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอน
พล.อ.ชัยชาญกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีของคนเสื้อเหลืองที่แสดงความจงรักภักดี เป็นความรู้สึกของประชาชนที่แสดงความเห็นปกป้องสถาบันฯ ที่คนไทยทุกคนเชิดชู กรณีที่บอกว่าเมื่อมาแล้วทำไมดูแลอำนวยความสะดวกให้ เพราะวันที่ 1 พ.ย.มีพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต ถือว่าประชาชนมาร่วมงานพระราชพิธี ไม่เข้าข่ายการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ทั้งนี้ มีบางกลุ่มแจ้งการชุมนุมและไม่แจ้งการชุมนุม ดังนั้น เจ้าหน้าที่ดูแลตามกรอบกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ นายรังสิมันต์ได้กล่าวว่า ตนผิดหวังในคำตอบ เพราะต้องการทราบชื่อว่าใครสั่งการ ผิดหวังต่อการสลายการชุมนุม และผิดหวังต่อการไม่ดำเนินคดีคนเสื้อเหลืองที่ถูกมองว่าเป็นม็อบมีเส้น ซึ่งทำร้ายกลุ่มราษฎรที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และขอให้ระวังเพราะพูดเหมือนกับการชุมนุมและการรับเสด็จเป็นการกระทำแบบเดียวกัน
นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า ทราบว่าการดูแลพื้นที่มีเจ้าหน้าที่จากต่างจังหวัดถูกเกณฑ์เข้ามาดูแลสถานการณ์ จำนวน 1.4 หมื่นนาย และเชื่อว่าจะใช้งบประมาณต่อวันถึง 8.4 แสนบาท จึงขอทราบถึงงบประมาณที่ดำเนินการ และการร้องเรียนจากตำรวจที่ปฏิบัติงาน ที่ระบุว่าพบการหักหัวคิวเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ โดยตำรวจแต่ละนายได้รับค่าอาหารเป็นจำนวน 60 บาทต่อกล่อง แต่เมื่อเปิดดูหน้าตาอาหารต่อกล่องมีแค่ปีกไก่ 1 ชิ้น บางกล่องมีแค่ไข่ต้มกับน้ำพริก ดูแล้วมีความผิดปกติ เพราะส่งตำรวจมาปฏิบัติหน้าที่แต่ไม่ดูแลให้สมศักดิ์ศรี ตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ถูกประชาชนด่าเพื่อปกป้องคนที่สั่งการให้ได้หน้า เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ อยากทราบว่ามีการหักค่าหัวคิว ค่าเบี้ยงเลี้ยง ค่าอาหารจริงหรือไม่
พล.อ.ชัยชาญชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินการกับทุกกลุ่ม โดยการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจากต่างจังหวัดนั้น เพราะตำรวจควบคุมฝูงชนมีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติตามแผน จึงต้องผลัดเปลี่ยนกำลังจากต่างจังหวัดมาช่วยปฏิบัติการ ส่วนอาหารนั้นเป็นนโยบายสำคัญของนายกฯ ที่ให้ดูแลสิทธิ ที่อยู่ เบี้ยเลี้ยง และอาหารเต็มที่ ซึ่งหมุนเวียน 15-20 วัน ส่วนการตรวจสอบหักหัวคิวนั้น ผบ.ตร.ตรวจสอบข้อเท็จจริง บางส่วนเบิกจ่ายงบประมาณ โดยไม่ได้เบิกจ่ายตามงบประมาณ แต่เป็นการบริหารงานของหน่วยงาน ทั้งนี้มีนโยบายให้ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเต็มที่เพื่อขวัญและกำลังใจในการทำงาน