xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ปัดตอบความเห็น “อานันท์” บอกอย่าเอาความคิดคนหนึ่งไปถามอีกคน มันจะบานปลาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วิษณุ” ปัดตอบความเห็น “อานันท์” บอกอย่าเอาความคิดคนหนึ่งไปถามอีกคน มันจะบานปลาย ชี้คณะกรรมการสมานฉันท์ต้องทำหน้าที่รับทุกความเห็นเพื่อหาทางออก แต่อาจไม่จบในทีเดียว

วันนี้ (30 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธให้ความเห็นกรณีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ความเห็นว่ารัฐบาลควรฟังเสียงกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ตนไม่ทราบ ตอนนี้ยังไม่ได้อ่านความเห็นดังกล่าว ยังไม่รู้เรื่อง ยังไม่รู้จะพูดอย่างไร อย่าไปเอาสิ่งที่ใครคนหนึ่งพูดแล้วเอามาถามต่ออีกคนหนึ่งเลย มันจะทำให้บานปลาย เพราะถือว่าเป็นความคิดความเห็นหนึ่ง เมื่อถามว่าคำพูดของนายอานันท์อาจไปเพิ่มความชอบธรรมให้กลุ่มผู้ชุมนุม นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ขอวิจารณ์ เมื่อถามอีกว่าข้อเสนอของนายอานันท์น่าจะเป็นทางออกหนึ่งของประเทศในขณะนี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ก็ดีแล้ว ถ้าตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ทุกอย่างก็ควรไปสู่ที่ตรงนั้น และสามารถรับเอาความคิดเห็นของใครต่อใครมา แล้วมาคิดดูว่าจะหาทางออกอย่างไร” เมื่อถามว่าในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์ฝ่ายค้านเหมือนจะไม่เข้าร่วมแล้วจะตั้งคณะกรรมการได้หรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ แต่รู้สึกว่าเขายังไม่ปฏิเสธการเข้าร่วมเพราะเขาเองก็ยังไม่เห็นรูปแบบว่าเป็นอย่างไร ตอนนี้ทุกคนยังไม่รู้ว่าหน้าตาของคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นอย่างไร อย่าว่าแต่ฝ่ายค้านเลย ฝ่ายไหนก็ยังไม่เห็นรูปแบบ เพราะฉะนั้นก็คงจะลังเลอยู่

เมื่อถามว่า อยากให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นคนตั้ง เมื่อถามอีกว่าเมื่อตั้งขึ้นมาทุกฝ่ายควรเข้าร่วมเพื่อหาทางแก้ปัญหาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อย่าเพิ่งไปพูดตอนนี้เลย ตีปลาหน้าไซพูดตอนนี้เดี๋ยวก็จะตื่นตกใจกันหมดว่ามีเล่ห์กระเท่ห์อะไรแอบแฝงหรือไม่ ในส่วนของรัฐบาลจะเข้าร่วมหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังไม่ได้คิดอะไรทั้งนั้นและยังไม่ได้มีการวางอะไรไว้เพราะยังไม่รู้เลยว่าจะทำอะไร ประกอบด้วยใครบ้าง ถ้ารู้แล้วเขาขอให้มีตัวแทนจากรัฐบาลเราก็คงต้องเอามาพูดกันในคณะรัฐมนตรี เมื่อถามอีกว่ามีการวิจารณ์ว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เป็นการซื้อเวลา นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบว่าเรียกว่าคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ แต่เท่าที่ฟังในการประชุมรัฐสภาทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก็มีความเห็นตรงกันให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูในเรื่องเหล่านี้ เอาปัญหาขึ้นมาพูด โจทย์ที่จะส่งไปให้มีหลายข้อ รวมทั้งข้อเสนอที่จะให้ไปฟังความเห็นจากประชาชนด้วยการทำประชามติ เพียงแต่มีคนติงซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ติงว่าตามมาตรา 166 รัฐบาลอาจมีการทำให้ความคิดเห็นประชามติหรือประชาพิจาร์ณอะไรได้ แต่การตั้งคำถามต้องไม่เป็นเรื่องบุคคล ดังนั้นก็อาจจะตั้งโจทย์อะไรที่ได้คำตอบให้แก่สังคมโดยไม่เกี่ยวกับเรื่องตัวบุคคล พยายามตั้งให้เป็นหลักการ เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ ตนไม่รู้ อาจจะมาเรียกกันเองทีหลัง ส่วนที่วิจารณ์ว่าซื้อเวลานั้นตนคิดว่าทุกอย่างต้องใช้เวลาทั้งนั้น เพียงแต่ว่าถ้าใช้เวลานานเกินไปมันก็ซื้อ ถ้าใช้เวลาไม่นานก็ไม่ได้ซื้อ แต่อย่าไปหวังว่าทุกอย่างจะจบที่คณะกรรมการชุดนี้แล้วก็เลิกแฮปปี้แล้ว มันคงไม่ใช่แบบนั้นแน่ การเสนอทางออกอาจจะเป็นหลายทางก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น