มติศาล รธน.เสียงข้างมาก “ธัญญ์วาริน” ถือครองหุ้นสื่อ ส่งผลหลุดจากเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โดนคนเดียวใน 64 ส.ส.ที่วินิจฉัย ส่อโดนริบเงินเดือนคืน-โทษอาญา
วันนี้ (28 ต.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพส.ส. จำนวน 32 คนของฝ่ายรัฐบาล และอีก 32 คนของฝ่ายค้านสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ
มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ โดยในส่วนของฝ่ายค้าน ศาลได้จำหน่ายคำร้องส่วนที่เกี่ยวข้องกับพล.ท.พงศNกร รอดชมภู นายชำนาญ จันทร์เรือง และนายสุรชัย ศรีสารคาม เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคของพรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลมีคำวินิจฉัยยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จึงเหลือส.ส.ฝ่ายค้าน ผู้ถูกร้องที่ศาลต้องวินิจฉัยรวม 29 คน โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า 28 ส.ส.ไม่ได้ประกอบธุรกิจ หรือถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อ จึงไม่เป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลง
ส่วนนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากเห็นว่า นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ถือครองหุ้นบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัทแอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด โดยทั้ง 2 บริษัทข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ประกอบกิจการเกี่ยวกับโฆษณา ภาพยนตร์ และการแสดง ซึ่งถือว่า เป็นสื่อกลาง ส่งข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระไปสู่ประชาชนที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้โดยทั่วไป แม้ไม่ปรากฏว่าบริษัทเฮดอัพฯ และบริษัทแอมฟายน์ฯ ได้ยื่นคำร้อง หรือประกอบกิจการจดแจ้งตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ก็ตาม แต่บริษัทย่อมดำเนินการขออนุญาตต่อนายทะเบียนตามกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ ได้ ดังนั้นวัตถุประสงค์ของบริษัทจัดตั้งขึ้นเกี่ยวกับสื่อ นัยความหมายเดียวกับมาตรา 98 (3) แห่งรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญ ยังพบข้อพิรุธกรณีการโอนหุ้นของนายธัญญ์วาริน ที่โอนหุ้นให้บุคคลอื่น โดยพบว่า มีการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 31 ก.ค. 2562 ทั้ง 2 บริษัท และนำส่งต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในวันเดียวกัน โดยเป็นการดำเนินการภายหลังถูกยื่นคำร้องถือครองหุ้นสื่อต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า 2 บริษัทดังกล่าวระบุในแบบ บอจ.5 ว่า โอนหุ้นตั้งแต่ 11 ม.ค. 2562 อย่างไรก็ดีการประชุมผู้ถือหุ้นของ 2 บริษัทข้างต้นที่ผ่านมากระทำในเดือน เม.ย. เป็นหลัก ดังนั้นการจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 31 ก.ค. 2562 จึงเป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัย นอกจากนี้หากนายธัญญ์วาริน มีการโอนหุ้นดังกล่าวจริง ย่อมสามารถแจ้งต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยเร็ว ก่อนที่จะมีการยื่นคำร้องคดีนี้ได้
ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้นายธัญญ์วาริน มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่นายธัญญ์วารินไม่ได้มาชี้แจงแต่อย่างใด จึงเป็นการผิดปกติวิสัยในการต่อสู้คดี เมื่อข้อพิรุธหลายประการดังกล่าวประกอบกัน พฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวงฟังได้ว่า นายธัญญ์วาริน เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท เฮด อัพฯ และบริษัท แอมฟายน์ฯ ในวันที่ 6 ก.พ. 2562 อันเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส. เสนอต่อ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธัญญ์วาริน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส. เสนอต่อ กกต.
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของนายธัญญ์วาริน ซึ่งเป็นส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ที่สิ้นสุดลงจึงทำให้สมาชิกภาพส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่างลงนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟัง ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 76วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน ในวันที่ 28 ต.ค.63อย่างไรก็ดีศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากเห็นว่า ในคำวินิจฉัยที่5/63 เมื่อวันที่ 21 ก.พ.63 ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคจึงไม่มีรายชื่อสมาชิกในลำดับถัดไปที่จะเลื่อนขึ้นมาแทน เป็นกรณีเหตุทำให้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105วรรคหนึ่ง(2)ประกอบมาตรา 83วรรคสาม อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของส.ส.ของนายธัญญ์วารินสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) นับจากวันรับสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ในวันที่ 6 ก.พ.62 และให้ถือว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยนี้เป็นวันที่ตำแหน่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่างลง ส่วนผู้ถูกร้องคนอื่นวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของส.ส.เหล่านั้นไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา101(6) ประกอบมาตรา 98(3)
สำหรับ ส.ส.ฝ่ายค้าน 28 คน ประกอบด้วย ส.ส. พรรคก้าวไกล อดีตพรรคอนาคตใหม่รวม 16 คน คือ 1.นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ 2. นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ 3. นายวินท์ สุธีรชัย 4. นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ 5. นายคารม พลพรกลาง 6. นายวาโย อัศวรุ่งเรือง 7. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล 8. นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล 9. นายวรภพ วิริยะโรจน์ 10. น.ส.เบญจา แสงจันทร์ 11. นายสมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด 12. นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. 13. น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม 14. นายจิรัฎฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา 15. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก และ 16. น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย 4 คน คือ 1. นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย 2. นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก 3. นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ และ 4. นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อชาติ 4 คน เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด ได้แก่ 1. นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ 2. นางลินดา เชิดชัย 3. น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช และ 4.นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล พรรคเสรีรวมไทย จำนวน 3 คน เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด ได้แก่ 1. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 2. น.ส.ธนพร โสมทองแดง และ 3. น.ส.นราพร เพ็ชรจินดา พรรคประชาชาติ 1 ราย คือ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ และ พรรคพลังท้องถิ่นไทย 1 คน คือ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี ซึ่งอดีตเคยเป็นส.ส.พรรคอนาคตใหม่