กมธ.สิทธิฯ วุฒิสภา มีมติกรณี “น้องชมพู่” เร่ง กสทช. ออกมาตรการเร่งรัดรวมกลุ่มวิชาชีพสื่อ นำกองทุนยูโซ่ ส่งเสริมจริยรรมให้เป็นที่ประจักษ์ และห้ามเสนอข่าวงมงายด้านไสยศาสตร์
วันนี้ (27 ต.ค.) นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้มีหนังสือไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามมติคณะกรรมาธิการ ในการส่งข้อเสนอแนะที่เป็นผลจากการศึกษาของ อนุ กมธ.สื่อมวลชน วุฒิสภา ที่ได้พิจารณาศึกษา “จริยธรรมในการนำเสนอข่าวสารของนักวิชาชีพสื่อมวลชนจากกรณีการนำเสนอข่าวติดตามคดีการเสียชีวิตของเด็กหญิงอรวรรณ วงศ์ศรีชา (น้องชมพู่)” โดยได้เชิญอดีตช่างภาพสื่อมวลชน อดีตผู้สื่อข่าว ผู้แทนจากสำนักงาน กสทช. ผู้แทนจากสถานีโทรทัศน์ ผู้แทนจากสมาคมด้านสื่อมวลชน และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน มาให้ข้อมูลต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการ เมื่อวันพุธที่ 16 กันยายน 2563 และวันพุธที่ 30 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา
ข้อเสนอแนะดังกล่าว เป็นการเร่งรัดดำเนินการในเรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
อีกทั้ง กสทช. ควรมีการพิจารณาการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามบทบัญญัติในมาตรา 52(3) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อเป็นการยกย่องผู้ที่มีจริยธรรมให้เป็นที่ประจักษ์
นอกจากนี้ ทาง กมธ.สิทธิฯ วุฒิสภา ยังเห็นว่า กสทช. ควรมีการพิจารณากำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามบทบัญญัติในมาตรา 27(6) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ โดยการให้สถานีโทรทัศน์แต่ละช่องจะต้องเคร่งครัดในการนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ไม่สามารถพิสูจน์หรืออ้างอิงได้
ทางด้าน ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ ประธานคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพ ด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ กล่าวว่า นอกจากยื่นหนังสือถึง กสทช.แล้ว ยังได้มีการติดตามความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้นำส่งไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้ว และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วเสร็จ จะนำส่งกลับไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา อีกครั้ง คาดว่าร่างพระราชบัญญัติข้างต้น สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาเสร็จสิ้นในช่วงเปิดประชุมสามัญนี้ (ภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563)