“วทันยา” อภิปรายชี้ชัดต้องแก้ที่ต้นตอปัญหา ระบบการศึกษา-วัฒนธรรม และเทคโนโลยี แนะรัฐเร่งเปิดเวทีแลกเปลี่ยนกับคนรุ่นใหม่แบบทันสมัย สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศอย่างสร้างสรรค์
วันนี้ (26 ต.ค.) น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ อภิปรายในการประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาทางออกประเทศว่า ในช่วงเกือบสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเราเห็นความร้อนแรงการชุมนุมที่ทวีคูณมากยิ่งขึ้น มีหลายประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดท่ามกลางการชุมนุมต่างๆ บ่อยครั้ง แต่ก็มีบางประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์ครั้งแรกในสังคมไทย ได้สร้างความไม่สบายใจแก่ประชาชนจำนวนมากในประเทศ นั่นคือการวิพากษ์ถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่วันนี้ได้สร้างความแตกแยกทางความคิดและกำลังสร้างรอยร้าวไปสู่สถาบันครอบครัว จากปัญหาการเมืองกลายเป็นปัญหาสังคมแต่ถ้าหากเราตั้งใจรับฟังทุกรายละเอียดที่มีการวิพากษ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม
“วันนี้เราจำเป็นต้องแยกแยะให้ออกก่อนระหว่างข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่มีเป้าประสงค์ทางการเมือง และผู้ชุมนุมที่หวังอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในหลายๆ ปัญหาที่ถูกวิจารณ์นั้นเราสามารถลงมือแก้ไขได้โดยที่ไม่ต้องรอให้มันเป็นปัญหาสะสมจนกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ และกลายเป็นปัญหาพาดพิงไปจนถึงประเด็นที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนของคนในชาติ” น.ส.วทันยาระบุ
น.ส.วทันยากล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญในวันนี้คือ การร่วมกันหาทางออกร่วมกันอย่างไร เพื่อไม่ให้รัฐเกิด Failed State ทำให้ประเทศเกิดปัญหาซับซ้อนบานปลาย เพราะในปัจจุบันรัฐยังมีหน้าที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุข และเศรษฐกิจจากพิษไวรัสโควิด-19 ซึ่งจุดเริ่มต้นคือการถอยคนละก้าว จากแถลงการณ์ของนายกฯ เมื่อวันที่ 21 ต.ค ที่ผ่านมาก็นับเป็นข้อดีที่รัฐบาลประกาศอย่างชัดเจนในการเริ่มต้นเป็นผู้ถอย เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในสังคม พร้อมยืนยันว่าข้อเสนอจากผุ้ชุมนุมนั้นรัฐบาลรับฟังและได้ยินแล้ว แต่การตอบรับด้วยการได้ยินอาจไม่เพียงพอสำหรับผู้ชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องหลายประเด็น
“สิ่งที่รัฐควรดำเนินการ คือ เปิดพื้นที่หรือเวทีกลางทั้งในและนอกสภาควบคู่กันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางตรงจากทั้งสองฝ่ายระหว่างรัฐและประชาชน เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านกฎหมาย การแลกเปลี่ยนทัศนะความคิด โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อให้เขาเหล่านั้น ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศอย่างสร้างสรรค์ แต่ทั้งนี้ข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย ต้องเป็นไปด้วยเหตุผลที่สังคมยอมรับเพื่อหาจุดสมดุลที่เป็นประโยชน์กับประเทศ”
นอกจากนี้ อยากเสนอให้รัฐกลับมาพิจารณาตั้งแต่โครงสร้างของปัญหา ซึ่งอาจเป็นการทำงานระยะยาวแต่รัฐจำเป็นต้องเริ่มทำเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นจุดต้นตอของสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกระบวนการศึกษาที่จะทำอย่างไรให้เยาวชนเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการศึกษาไทย ในขณะที่โลกภายนอกนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจะปรับการศึกษาไทยอย่างไรที่ทำให้นักเรียนเชื่อมั่นว่าในอนาคตพวกเขาเหล่านั้นจะยังคงมีความมั่นคงในอาชีพและสวัสดิการ ท่ามกลางการเข้ามาของเทคโนโลยี AI เราพูดถึงข้อมูลข่าวปลอม การแทรกแซงจากต่างชาติ แต่วันนี้เราพร้อมหรือยังที่จะบรรจุหลักสูตร Media Information and Digital Literacy เข้าในระบบการศึกษาเพื่อให้เยาวชนมีภูมิคุ้มกันที่ดี หรือกระทั่งการให้ความรู้วิชาประวัติศาสตร์ ข้อมูลด้านต่างๆของประเทศเพื่อให้เยาวชนได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนก่อนที่จะนำไปตกผลึกทางความคิดหรือกระทั่งการปรับปรุงการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรม ที่วันนี้การอนุรักษ์วัฒนธรรมเดิมกับการเข้าใจวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ที่โลกทั้งใบนั้นเชื่อมโยงเข้าหากัน สังคมกลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมหรือที่เรียกว่า Mixed Culture
ตนเชื่อว่า เยาวชนไม่ได้ทอดทิ้งความภูมิใจในความเป็นไทย แต่เราจะนำอัตลักษณ์ของประเทศมาปรับใช้อย่างไรให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อให้เยาวชนซึมซับเข้าถึงได้จริง นอกจากนี้ รัฐต้องเร่งรัดปรับปรุงการสื่อสาร ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอไปตามยุคสมัยด้วยเนื้อหาที่กระชับ เข้าใจง่าย รัฐบาลต้องสื่อสารการทำงานอย่างต่อเนื่องและตรงไปตรงมา หรือ Transparency ที่อธิบายตั้งแต่เหตุผลไปจนถึงเป้าหมายของการทำงาน ด้วยการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในรูปแบบการสื่อสารสองทาง Two-way Communication เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการทำงาน นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่หากเราตั้งใจฟังจะพบเนื้อหาที่เป็นต้นตอนำไปสู่ข้อเรียกร้องในเวลานี้ ดังนั้นถ้าเราเข้าใจจุดเริ่มต้นของปัญหา เราก็จะเดินหน้าไปด้วยกันได้
“เราทุกคนก็ล้วนต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย เพียงแต่แต่ละคนก็อาจมีวิธีการและจุดยืนในการรักประเทศชาติที่ต่างกัน และสุดท้ายจุดยืนของเราคือ เชื่อว่าการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยของเรา” น.ส.วทันยาระบุ