xs
xsm
sm
md
lg

“ก้าวไกล” เสนอแปรรูปกรมท่าอากาศยานเป็นรัฐวิสาหกิจ หลังสนามบินหลายแห่งในกำกับขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศิริกัญญา” ซัดกรมท่าอากาศยาน ทำแผนลงทุนไม่สอดรับสถานการณ์โควิด ทั้งที่ไม่มีนักท่องเที่ยว แต่ยังเดินหน้าก่อสร้างขยายสนามบินถึง 14 แห่ง อีกทั้งก่อนโควิด มีเพียง 6 จาก 28 สนามบิน ในกำกับเท่านั้นที่กำไร เสนอแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือไม่ก็ควบรวมกับ ทอท.

วันที่ 17 ก.ย. 2563 เวลา 20.50 น. เข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 15 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงคมนาคม วงเงิน 5.8 หมื่นล้านบาท กมธ.เสียงข้างมากปรับลดลง 224 ล้านบาท เหลือ 5.7 หมื่นล้านบาท โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า หลังเกิดโควิดระบาด รูปแบบการเดินทาง และการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศ และในประเทศลดลง แม้รัฐบาลจะปลดล็อกมาตรการในการล็อกดาวน์ไปแล้วก็ตาม แต่การท่องเที่ยวในประเทศเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ยังลดลงถึง 43% จากปี 2562 แต่กรมท่าอากาศยาน ซึ่งดูแลสนามบิน 28 แห่ง กลับไม่มีการทบทวนแผนการลงทุนของตัวเองเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เลย โดยยังมีแผนการลงทุนก่อสร้าง และขยายสนามบินต่างๆ ถึง 14 แห่ง ซึ่งต่างจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เมื่อมีโควิดได้ปรับแผนธุรกิจของตัวเองทันที มีการเลื่อนเปิดอาคารเทียบเครื่องบินสุวรรณภูมิ และกลับไปหารายได้ในกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการบินมากขึ้น แต่กรมท่าอากาศยาน ไม่มีการปรับแผนใดๆ เลย

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า แม้ตนจะเข้าใจดีว่า หลายกิจการอาจจะขาดทุนได้ เพื่อการันตีการเข้าถึงของประชาชน แต่ในปี 2562 ก่อนที่โควิดระบาดนั้นมี 6 สนามบินจาก 28 สนามบินในกำกับของกรมท่าอากาศยานเท่านั้นที่กำไร ทั้งๆ ที่ปี 2562 เป็นปีที่การท่องเที่ยวไทยทุบสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การเป็นกรมฯ ทำให้ไม่จำเป็นต้องปรับตัวอะไร ใช้เงินรัฐลงทุน จึงไม่มีการปรับแผนทำให้ไม่สามารถรีดประสิทธิภาพของหน่วยงานออกมาได้

ตนจึงเสนอให้แปรรูปกรมท่าอากาศยาน ให้เป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ หรือให้มีการควบรวมกับ ทอท. หรือให้เอกชนเข้าดำเนินการในสนามบินต่างๆ แทน เพราะวันนี้เราแยกไม่ออกว่า สนามบินที่ขาดทุนนั้น เป็นเพราะบริหารงานไร้ประสิทธิภาพ หรือต้องมีการติดตั้งค่าธรรมเนียมให้ต่ำเพื่อประชาชนเข้าถึงได้ จึงเสนอให้รัฐอุดหนุนจ่ายบริการต่อหัวเท่ากับต้นทุนที่แท้จริง เพราะจะทำให้เราปรับลดงบประมาณได้มากถึง 5 พันล้านบาท จึงเสนอปรับงบกระทรวงคมนาคมลงเหลือ 5.2 หมื่นล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น