“สุทิน” มั่นใจก้าวไกลถอนชื่อญัตติแก้ รธน. ไม่กระทบฝ่ายค้าน แจงล็อกหมวด 1 หมวด 2 เป็นเรื่องเทคนิคกฎหมาย ต้องปิดจุดเสี่ยง กันถูกตีตกตั้งแต่ยกแรก หวังไปเพิ่มประเด็นในวาระ 2
วันนี้ (19 ส.ค.) นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลถอนชื่อออกจากญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ไม่มีปัญหา เราเคารพเหตุผลซึ่งกันและกัน โดยมีบางอย่างอาจจะทบทวนวิธีการทำงานอย่างเป็นองค์คณะ ต้องมีการทำงานอย่างเป็นระบบ แลกเปลี่ยนกันแล้วต้องมีมติ และต้องปฏิบัติอย่างไร ซึ่งต้องมีการปรับจูนกันก็สามารถจะงานกันต่อไปได้ ตนมั่นใจว่าฝ่ายค้านยังเดินหน้าต่อไปได้ไม่มีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยจะลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้านจะนำญัตติของแต่ละพรรคที่จะขอความร่วมมือให้เราเซ็นด้วย ต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุม ส.ส. เพราะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางประเด็นมองต่างมุมกันได้มาก แม้แต่ในกลุ่มของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านถกกันแต่ละเรื่องกว่าจะเข้าใจตรงกัน ดังนั้น ทุกญัตติจึงต้องเข้าไปที่ประชุม ส.ส. เมื่อถามย้ำว่าแนวทางการแก้ไขของพรรคก้าวไกล ตรงกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ทุกพรรคมีทั้งส่วนตรงกันหรือในส่วนรายละเอียดอาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่หลักใหญ่คิดว่าตรงกัน
ส่วนกรณีการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ที่พรรคก้าวไกลบอกว่าไม่ควรจะล็อก แต่พรรคฝ่ายค้านบอกว่าควรล็อกไว้ นายสุทินกล่าวว่า เรื่องนี้มีการพูดคุยในที่ประชุมหลายรอบซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคการเสนอกฎหมาย คนหนึ่งคิดเรื่องเนื้อหา คนหนึ่งคิดเรื่องเทคนิค ถ้าเราเสนอไปแล้วตกตั้งแต่ยกแรกก็ไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นเราเสนอรัฐธรรมนูญหวังผลให้แก้ได้จริง ซึ่งจะต้องปิดจุดเสี่ยง ความเสี่ยงหนึ่งก็คือ ส.ว.และความเสี่ยงที่ 2 คือ ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2555 ที่บอกว่าการตั้ง ส.ส.ร.ปลายเปิดหมายถึงการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งคือการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างการปกครอง ซึ่งในเรื่องนี้ก็ดูเหมือน ส.ว.ตั้งป้อมไว้ว่าจะเล่นเรื่องนี้ ดังนั้น หากเราเสนอไปแล้ว ส.ว.หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วนำไปเข้าสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เราเสนออาจจะตกไป ดังนั้นเราจึงเลี่ยงข้อนี้ ส่วนประเด็นหมวด 1 และหมวด 2 เป็นสิ่งที่เราคิดต่างกันได้ แต่ในวาระ 2 แปรญัตติ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญได้รับการบรรจุไม่ตกในยกแรก ส่วนการจะเพิ่มจะตัดอะไร ให้ไปพิจารณาในวาระที่ 2 ซึ่งเราคิดเช่นนี้ เพราะเป็นเทคนิคของการแก้รัฐธรรมนูญที่จะสำเร็จและได้ผลจริงๆ
เมื่อถามว่าควรจะรอญัตติของฝ่ายรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า เรารอมาหลายรอบจนถึงวันที่ 17 ส.ค. ซึ่งวันนี้เราทราบว่ารัฐบาลกำลังเคลื่อน จึงหวังว่ารัฐบาลจะรีบเสนอเข้ามา และเชื่อว่าจะทันกัน