สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จับมือสถาบันวิทยาลัยชุมชน พัฒนาคนในชุมชนก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพ ต่อหน้าผู้นำวิทยาลัยชุมชน 20 แห่งทั่วประเทศ ที่ร่วมเป็นสักขีพยานผ่านออนไลน์
วันนี้ (24 ก.ค.) ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ลงนามความร่วมมือร่วมกับ นายคมสัน คูสินทรัพย์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิทยาลัยชุมชน เพื่อร่วมกันยกระดับมาตรฐานบุคลากรด้านการประกอบอาชีพ โดยมีนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พร้อมคณะผู้บริหาร และผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชน 20 แห่งทั่วประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามผ่านการถ่ายทอดทางออนไลน์
ดร.นพดลระบุว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการยกระดับบุคลากรในชุมชนให้ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพที่มีมาตรฐานระดับสากล เพิ่มโอกาสการศึกษา และฝึกอบรม ผลักดันให้เกิดการประเมินสมรรถนะบุคคลลงไปถึงกลุ่มชุมชนซึ่งเป็นฐานรากของประเทศ ให้มีการพัฒนา เสริมสร้างขีดความสามารถในการทำงานให้เป็นมืออาชีพ มีความพร้อมเป็นผู้ประกอบการอิสระ กระทั่งสามารถปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรืออุตสาหกรรมได้ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้คนไทยต้องปรับตัวในการใช้ชีวิต หลายคนต้องกลับภูมิลำเนาเพราะนายจ้างปิดกิจการ และประกอบอาชีพที่บ้านเกิด ซึ่ง สคช.พร้อมที่จะให้แนวทาง และพร้อมเป็นหน่วยงานการันตีให้กับคนในชุมชน ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด จังหวัดใด จะอยู่ที่บ้าน หรือแม้กระทั่งต่างประเทศ ก็พร้อมทำงานได้อย่างมืออาชีพ ความร่วมมือระหว่าง สคช. และวิทยาลัยชุมชนจะเป็นการผนึกกำลังกันครั้งสำคัญ เพราะการทำหลักสูตรระยะสั้น (e-training/e-learning) ตามวิถี New Normal จะช่วยเสริมทักษะ ต่อยอดในการประกอบอาชีพให้กับบุคคลเหล่านี้ และจะเป็นการช่วยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบอีกทางหนึ่งด้วย
ด้านนายคมสันเผยว่า เป็นก้าวใหม่ที่จะยกระดับ ช่วยให้คนในชุมชนสามารถพัฒนาตัวเองได้ แม้จะไม่ได้ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ก็สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีมาตรฐาน และอาจจะช่วยต่อยอดให้สามารถเข้าทำงานในองค์กรต่างๆ ได้ด้วย เรียกว่าเป็นการทำให้คนไม่รู้ เป็นผู้ที่อยากรู้ และเป็นผู้รู้อย่างมืออาชีพในที่สุด
ส่วนนายนครกล่าวว่า ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พร้อมให้การสนับสนุนผลักดันโครงการที่ให้การสนับสนุนคนในชุมชนเต็มที่ โดยเฉพาะความร่วมมือของ 2 หน่วยงานในครั้งนี้ นับว่าเป็นการพัฒนาคนที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และสังคม เป็นการส่งเสริมให้คนมีงานทำ มีสวัสดิการ การดำรงชีวิตที่ดี
ขณะที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชน 20 แห่ง ทั้งแม่ฮ่องสอน พิจิตร ตาก สระแก้ว อุทัยธานี บุรีรัมย์ มุกดาหาร หนองบัวลำภู ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล สมุทรสาคร ตราด ยโสธร พังงา แพร่ สงขลา และน่าน ที่ร่วมเป็นสักขีพยานผ่านทางออนไลน์ ต่างให้การตอบรับความร่วมมือ และพร้อมที่จะนำแนวทางความร่วมมือกับ สคช. ไปใช้ พร้อมผลักดันให้คนในชุมชนเข้าประเมินสมรรถนะฯ เพื่อยกระดับในอาชีพ เพราะวิทยาลัยชุมชนทำงานกับคนในท้องถิ่น และมีอาชีพมากมายในท้องถิ่นที่ต้องการได้รับการสนับสนุนดูแล ไม่ว่าจะเป็นการดูแลผู้สูงอายุ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เกษตรกรรม อาหารพื้นถิ่น ซึ่งมีคนประกอบอาชีพเหล่านี้อยู่ในชุมชนเป็นจำนวนมาก และพร้อมที่จะได้รับการพัฒนาให้แก่พวกเขาด้วย