xs
xsm
sm
md
lg

“เศรษฐพงค์” จุดพลุตั้ง “กองทุนกิจการอวกาศ” เสริมเขี้ยวเล็บประเทศทั้งเชิงพาณิชย์-มั่นคง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
“เศรษฐพงค์” ปิ๊งไอเดียหนุนตั้ง “กองทุนกิจการอวกาศ” เสริมเขี้ยวเล็บด้านอวกาศ สอดคล้องอุตฯ “นิวเอสเคิร์ฟ” หวัง ไทยมี กม.กิจการอวกาศโดยเร็ว ชี้โลกพัฒนาไปไกล ต้องมี “Space Agency” เพื่อประโยชน์ทั้งเชิง “พาณิชย์-ความมั่นคง” ทัดเทียมนานาประเทศ

วันนี้ (28 มิ.ย. 63) พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กิจการอวกาศ พ.ศ. ... ว่า ทราบว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกิจการอวกาศแห่งชาติแล้ว ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยในโลกยุคปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีอวกาศพัฒนาไปไกล หลายประเทศส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวที่อยู่ห่างไกลจากโลก รวมถึงการส่งดาวเทียมโคจรรอบโลกเพื่อสำรวจทั้งด้านภูมิกาศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการทหาร หรือระบบโทรคมนาคมต่างๆ ซึ่งขณะนี้โลกของเราได้มีการตั้งภาคีสนธิสัญญาและอนุสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายอวกาศ ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นสมาชิกภาคีด้วย โดยประเทศไทยได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และได้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ โดยได้รวบรวมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา

“ที่สำคัญคือ รัฐบาลอาจจะต้องพิจารณาจัดตั้งกองทุนกิจการอวกาศ เพื่อนำมาใช้ในการบำรุงส่งเสริมกิจการด้านอวกาศโดยเฉพาะ และจะเป็นประโยชน์อุตสาหกรรมนิวเอสเคิร์ฟ (New s-curve) ที่กำลังมาแรง ซึ่งประเทศไทยควรที่จะให้ความสำคัญเพื่ออนาคตทางเศรษฐกิจที่มั่นคง” พ.อ.เศรษฐพงค์ ระบุ

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวด้วยว่า สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ฉบับนี้ มีขอบเขตครอบคลุมกิจการอวกาศที่ยังไม่มีอยู่ภายใต้กฎหมายใดหรือยังไม่มีหน่วยงานใดทํามาก่อน เช่น การจดทะเบียนวัตถุอวกาศ การจัดการอุบัติเหตุทางอวกาศ การสร้างดาวเทียมและวัตถุอวกาศ เป็นต้น ส่วนที่มีการดําเนินการอยู่แล้วยังเป็นของหน่วยงานเดิม เช่น คลื่นความถี่ วงโคจร Landing right อุปกรณ์ชิ้นส่วนที่มีลักษณะยุทธภัณฑ์ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนากิจการอวกาศเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย ดังนั้น ไทยจำเป็นจะต้องมี Space Agency ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในด้านกิจการอวกาศทั้งในและระหว่างประเทศ รวมไปถึงงานด้านความมั่นคงและปลอดภัยด้านกิจการอวกาศ รวมถึงการสร้างกฎเกณฑ์ของประเทศไทยในเรื่องเกี่ยวกับกิจการอวกาศและเทคโนโลยีอวกาศให้สอดคล้องกับข้อบังคับระหว่างประเทศ รวมทั้งสร้างกระบวนการในการกำกับดูแลกิจการอวกาศของประเทศไทย และดูแลปกป้องผลประโยชน์ต่างๆของประเทศที่มาจากกิจการอวกาศด้วย

“ผมหวังว่า ร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ฉบับนี้ จะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และส่งต่อให้สภาฯพิจารณาได้โดยเร็ว เพราะวันนี้หลายประเทศพัฒนาไปไกลมาก มีการส่งยานอวกาศ ดาวเทียม และทำกิจการทางอวกาศอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เฉพาะประเทศในฝั่งตะวันตกเท่านั้น แต่หลายประเทศในเอเชีย ก็มีการพัฒนาในเรื่องนี้อย่างมาก ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีการพัฒนาด้านอวกาศ ทั้งการส่งดาวเทียมขึ้นไปหรือการที่เรามีบุคลากรที่ไปทำงานกับ NASA ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาได้เท่าเทียมกับนานาประเทศ การออกกฎหมายนี้มาบังคับใช้จะทำให้เกิดความเป็นรูปธรรมมากขึ้น” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น