ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว เริ่มตั้งแต่เวลา 23.00 น.วันที่ 14 มิ.ย. พร้อมรายละเอียดมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 เพื่อความคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผล 15 มิ.ย. 63
วานนี้ (12 มิ.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 10) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการยกเลิกข้อห้ามการออกนอกเคหสถาน หรือ เคอร์ฟิว มีผลตั้งแต่เวลา 23.00 น.วันที่ 14 มิถุนายน 2563 พร้อมรายละเอียดมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 เพื่อความคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีรายละเอียดดังนี้
ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑๐)
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปตั้งแต่ วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ จนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ นั้น
โดยที่สมควรผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) เป็นช่วงที่ ๔ ต่อเนื่องจากการผ่อนคลายที่ดําเนินมาก่อนแล้ว เป็นลําดับ ทั้งนี้ ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การเว้นระยะห่างทางสังคม และการยอมรับ ระบบติดตามตัวผ่านแอปพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดเป็นการทั่วไปและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน เพื่อเป็นมาตรการผ่อนคลายและบรรเทา ผลกระทบต่อการดําเนินชีวิตประจําวันของประชาชน จึงให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ทั่วราชอาณาจักรเฉพาะเหตุอันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่เวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา ของวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓
ข้อ ๒ การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา ๒๕๖๓ จึงผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอน หรือการฝึกอบรมของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเพิ่มเติมจากที่ได้กําหนดไว้แล้ว ตามข้อกําหนด (ฉบับที่ ๙) ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยให้โรงเรียนในระบบ ประเภทนานาชาติ สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ โรงเรียนนอกระบบประเภทกวดวิชาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน โรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนที่มีจํานวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบคน สามารถใช้อาคารสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรมได้ โดยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ต้องดําเนินการจัดรูปแบบการเรียนการสอน สถานที่ รวมทั้งบุคลากรและเจ้าหน้าที่ ให้มีความพร้อมสอดคล้องกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด รวมทั้ง จัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคําแนะนําของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยคํานึงถึง ความเสี่ยงต่อการติดโรค การแพร่กระจายเชื้อ และความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสําคัญ
ส่วนการเปิดเรียนและรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือ มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณีกําหนด โดยปฏิบัติตามความในวรรคก่อนด้วย โดยอนุโลม
ข้อ ๓ การผ่อนคลายให้ดําเนินการหรือทํากิจกรรมบางอย่างได้ เพื่ออํานวยความสะดวก แก่ประชาชนและขับเคลื่อนกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมจากที่ได้กําหนดไว้แล้วตามข้อกําหนด (ฉบับที่ ๖) ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อกําหนด (ฉบับที่ ๗) ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และข้อกําหนด (ฉบับที่ ๙) ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการ ป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคําแนะนํา ของทางราชการ ให้สถานที่หรือการดําเนินกิจกรรมที่เคยมีข้อกําหนดหรือคําสั่งของผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดให้ปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ และตามข้อกําหนด (ฉบับที่ ๕) ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ สามารถ เปิดดําเนินการหรือทํากิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมได้ทั่วราชอาณาจักร ตามความสมัครใจและความพร้อม ดังต่อไปนี้
(๑) กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดําเนินชีวิต
ก. การจัดการประชุม การอบรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการ การจัดแสดงสินค้า การจัดเลี้ยง งานพิธี การแสดง นาฏศิลป์ ดนตรี คอนเสิร์ต หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น ในโรงแรม โรงมหรสพ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงภาพยนตร์ หรือในสถานที่อื่นๆ ให้สามารถดําเนินการได้
ข. การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป หรือในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและได้ผ่อนคลาย ให้เปิดดําเนินการอยู่ก่อนแล้วให้สามารถทําได้ภายในกําหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
ในส่วนของสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังไม่อนุญาตให้เปิดดําเนินการ
ค. สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กพิเศษ สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานที่บริการดูแล สถานที่พํานักอาศัย หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่จัดสวัสดิการ ให้แก่เด็กหรือผู้สูงอายุ สามารถเปิดดําเนินการให้บริการแบบรายวันได้ ทั้งนี้ การเดินทางไปกลับ สถานที่ดังกล่าวถือเป็นเหตุยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรการอันพึงปฏิบัติของกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยง ต่อการติดโรค
ง. ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และ วัฒนธรรม
จ. การถ่ายทํารายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ให้ดําเนินการได้โดยมีจํานวน ผู้แสดง ผู้ร่วมรายการและคณะทํางานถ่ายทํารวมกันไม่เกินคราวละหนึ่งร้อยห้าสิบคนและมีผู้ชม ไม่เกินห้าสิบคน
(๒) กิจกรรมด้านการออกกําลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ
ก. การอบตัว อบสมุนไพร การอบไอน้ําแบบรวมหรือการนวดบริเวณใบหน้า ในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ให้ดําเนินการได้ ยกเว้น ในส่วนของสถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด ยังไม่อนุญาตให้เปิดดําเนินการ
ข. การออกกําลังกายแบบกลุ่มในสวนสาธารณะ ลานกิจกรรม พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ หรือลานกีฬากลางแจ้ง ให้ดําเนินการได้
ค. สวนน้ํา สนามเด็กเล่น สวนสนุก ยกเว้นการใช้เครื่องเล่นในลักษณะที่เป็นการติดตั้งชั่วคราว หรือเครื่องเล่นที่มีพื้นผิวสัมผัสมากซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคในเด็ก เช่น บ้านบอล บ้านลม
ง. สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกําลังกาย การเล่นกีฬา หรือเพื่อการเรียนการสอน ในทุกประเภทกีฬา ให้เปิดดําเนินการได้ ยกเว้นสนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา หรือ สนามการแข่งขันอื่นในลักษณะทํานองเดียวกันยังไม่อนุญาตให้เปิดดําเนินการ
สถานที่ที่ได้รับการผ่อนคลายสามารถจัดให้มีการแข่งขันและถ่ายทอดโทรทัศน์ การแข่งขันกีฬาหรือการถ่ายทอดผ่านสื่ออื่นๆ ได้ แต่ต้องไม่มีผู้ชมอยู่ในสนามแข่งขัน และผู้จัดการแข่งขันต้องดําเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่ทางราชการกําหนดด้วย
จ. ตู้เกม เครื่องเล่นหยอดเหรียญที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดําเนินการได้
ข้อ ๔ การขนส่งสาธารณะข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เพื่ออํานวยความสะดวก และรองรับ การเดินทางของประชาชนภายหลังมาตรการผ่อนคลายการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้หน่วยงาน ที่รับผิดชอบตรวจสอบและกํากับดูแลการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท (รถโดยสารประจําทาง รถปรับอากาศ รถตู้ รถไฟ เรือ เครื่องบิน) โดยผู้ประกอบการต้องจัดระบบ และระเบียบต่างๆ รวมทั้งให้มีการจอดพักรถ การเว้นที่นั่ง และการจํากัดจํานวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยว ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด
ข้อ ๕ การดําเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ในข้อ ๒ หรือข้อ ๓ มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการ ป้องกันโรค รวมทั้งดําเนินการจัดระเบียบและระบบต่างๆ ตามคําแนะนํา เงื่อนไข และเงื่อนเวลา ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือตามที่ทางราชการกําหนด
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจเข้าตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่ตามข้อ ๒ และ การดําเนินการของเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ตามข้อ ๓ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ที่ทางราชการกําหนด หากพบการกระทําที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คําแนะนํา ตักเตือน ห้ามปราม และมีอํานาจกําหนด ช่วงระยะเวลาเพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ดําเนินการปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ของโรค รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอํานาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ มีคําสั่งปิดสถานที่ในพื้นที่รับผิดชอบไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคําสั่งปิดสถานที่ไว้ เป็นการชั่วคราว เมื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ได้ดําเนินการให้เป็นไป ตามมาตรการที่ทางราชการกําหนดและจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ แล้ว ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี มีอํานาจสั่งให้เปิดดําเนินการในสถานที่ดังกล่าวได้
ข้อ ๖ ในกรณีมีปัญหาว่าสถานที่หรือกิจกรรมใดเข้าข่ายตามที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดนี้ หรือไม่ ให้หารือคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคง แห่งชาติในฐานะหัวหน้าสํานักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 เป็นประธาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี