“อนุทิน” ลั่นคนเรียกหักหัวคิวสถานที่กักตัวรัฐไม่รอด คนจ่ายโดนด้วย เข้าข่ายร่วมทุจริต ปัดตอบใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึงแค่เดือน มิ.ย. ระบุแม้ไม่มี พ.ร.ก.ยังมีกฎหมายอื่นใช้ควบคุม
วันนี้ (29 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่าที่ประชุมจะหารือรายละเอียดมาตรการผ่อนปรนต่างๆ โดยก่อนหน้านี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และปลัดกระทรวงต่างๆ ได้หารือในคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้ว ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำชับปลัด สธ.ไว้ว่าความปลอดภัยของประชาชนต้องมาเป็นลำดับแรก ขณะนี้ผู้ป่วยติดเชื้อตัวเลขกลับมาเป็นสองหลัก ก็ต้องมาดูว่าตัวเลขสองหลักมาจากสถานที่กักกันตัวของรัฐทั้งหมด เป็นคนที่มาจากต่างประเทศที่เป็นประเทศมีการติดเชื้อสูง และให้เข้ามา 200-300 คนต่อวัน เมื่อคนไทยจะกลับบ้านเราก็ต้องอำนวยความสะดวกให้เพราะอยู่ที่เมืองไทยดีกว่าที่เมืองนอก แต่เราก็ไม่เคยประมาท และต้องมั่นใจว่าเมื่อเข้ามาแล้วจะไม่ไปที่ใด ต้องมากักตัว 14 วันตามกติกา ใครติดเชื้อก็ต้องรักษาพยาบาล และในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ไม่มีการติดเชื้อจากในประเทศกันเอง ทั้งนี้ หากมีการผ่อนปรนระยะที่ 3 แล้วยังต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดคือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ไม่ไปในที่เสี่ยง เป็นสิ่งที่ยังต้องทำต่อไป โดยปฏิบัติให้เป็นชีวิตวิถีใหม่ แต่หากมีวัคซีนแล้วอาจจะไม่ต้องใส่หน้ากากออกจากบ้านก็ได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีบุคคลแอบอ้างและหักหัวคิวสถานที่ที่ต้องการจะมาเป็นที่กักกันตัวของรัฐจะมีความชัดเจนเรื่องนี้อย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ใครจะทำก็คงรับประทานแกลบกันเป็นแถว ทุกคนรู้อยู่แล้วใครจะกล้าทำ และคนที่จะอนุมัติงบเหล่านี้ต้องเอาแว่นขยายส่อง ไม่มีทางรั่วไหล ส่วนคนที่จ่ายไปแล้วก็ซวยไป และถือว่ามีความผิดด้วยเพราะร่วมกันทุจริตในราชการ หากมีเหตุแบบนี้เกิดขึ้นเราจะรู้ได้อย่างไร เพราะอาจจะมีการแอบอ้างได้ว่าเป็นญาติ เช่น มีคนกระทำผิดแอบอ้างว่าเป็นคู่เขยตน ทั้งที่ตนไม่มีเมีย แล้วจับเป็นคู่เขยได้อย่างไร ไปของานหรือบีบคั้นราชการได้อย่างไร
เมื่อถามว่าทราบหรือยังว่าคนที่แอบอ้างเป็นใคร นายอนุทินกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องไปทราบในส่วนนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะไม่ทนต่อการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นใครก็ไม่มีทางรอด เพราะจะต้องมีการคัดกรองและผ่านการเซ็นอนุมัติในหลายขั้นตอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อสิ้นสุดการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้จะมีกฎหมายใดที่เข้ามาควบคุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด นายอนุทินกล่าวว่า ยังมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ และประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดร้ายแรงอยู่ ตนได้เรียนนายกรัฐมนตรีว่าแม้จะไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังต้องคงคณะทำงานที่ร่วมทำงานในระหว่าง 3-4 เดือนที่ผ่านมาไว้ เพื่อทำงานร่วมกันต่อไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับชาติ และนายกรัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจสั่งการในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของการบริหาราชการแผ่นดิน สามารถสั่งการได้ทุกเรื่อง เราไม่ได้ใส่ใจกับคำว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ใส่ใจกับคำว่าสปิริตการทำงานร่วมกัน
เมื่อถามว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเดือนมิถุนายนจะเป็นเดือนสุดท้ายใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ตนไม่มีสิทธิ์ไปตอบ แต่เรื่องโควิด-19 สำคัญกว่าเรื่องการเมือง เรื่องศักดิ์ศรีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น อะไรที่ทำให้ประชาชนปลอดภัยจากการติดเชื้อตนยอมหมด