xs
xsm
sm
md
lg

“ระวี” ยื่น “ชวน” ดันญัตติตั้ง กมธ.CPTPP เป็นเรื่องเร่งด่วน ชี้ต้องมี ปชช.ช่วยพิจารณา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หน.พลังธรรมใหม่ ยื่นหนังสือประธานสภาฯ บรรจุญัตติตั้ง กมธ.cptpp เป็นเรื่องเร่งด่วน แนะต้องมีตัวแทน ปชช.ช่วยพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบ ให้ทัน ครม.พิจารณาลงนาม

วันนี้ (27 พ.ค.) นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังธรรมใหม่ ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ เป็นผู้รับแทน โดยขอให้พิจารณาญัตติด่วนการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมข้อตกลงที่ครอบคลุม และก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากว่าเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมบรรจุวาระเรื่องดังกล่าวที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาได้มีการถอนวาระนี้ออกไป เนื่องจากได้มีการคัดค้านจากหลายภาคส่วนที่ได้มีความกังลกับข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งในปัจจุบัน CPTPP ได้มีประเทศสมาชิก 11 ประเทศ ได้เข้าร่วมลงนามในข้อตลงแล้ว 7 ประเทศ ซึ่งสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันนั้น ได้รับแรงกดดันจากประเทศสมาชิก เร่งรัดให้ประเทศไทยเข้าร่วมลงนามในสนธิสัญญาข้อตกลงในฉบับนี้ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น

นพ.ระวีกล่าวต่อว่า ด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 ตรงที่ไม่มีการกำหนดให้รัฐบาลนำกรอบเจรจามาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน มีเพียงมาตรา 178 ที่ได้กำหนดให้รัฐบาลขอความเห็นชอบการลงนามในสัญญาในการเข้าร่วมสนธิสัญญาเท่านั้น และยังได้กำหนดว่าหากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งส่งผลสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบเจรจา ทั้งที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ในสภา

“ด้วยเหตุผลดังกล่าวผมได้เสนอญัตตินี้เป็นญัตติด่วนเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณานั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศโดยตรง เช่น ระบบสาธารณสุข สิทธิบัตรยา สินค้าการเกษตร กลไกระงับข้อพิพาทนักลงทุนต่างชาติ และถ้าหากดำเนินการผิดพลาดประเทศจะต้องเสียประโยชน์จากการเข้าร่วมข้อตกลงฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นที่สภาควรต้องแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมข้อตกลงที่ครอบคลุม และก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพื่อให้ตัวแทนของประชาชนได้ช่วยพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบ โดยเร็วให้ทันกับการที่รัฐบาลต้องลงนามในข้อตกลงฉบับนี้” นพ.ระวี กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น