xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติสินเชื่อช่วยประมง 10,300 ล้าน เพิ่ม 1 เดือน ประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.อนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง 10,300 ล้าน ช่วยชาวประมงกว่า 2,800 ราย พร้อมอนุมัติขยายกรอบเวลาโครงการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่ม 1 เดือน สร้างความมั่นคงรายได้เกษตรกร

วันนี้ (26 พ.ค.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ว่า ครม.อนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง วงเงินสินเชื่อรวม 10,300 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อเสริมสภาพคล่องในภาคกิจการประมง และเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมง จะได้มีเงินทุนในการปรับปรุงเรือ ติดตั้งอุปกรณ์ และจ้างแรงงานให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

โดยใช้วงเงินสินเชื่อจากธนาคารออมสิน จำนวน 5,000 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 5,300 ล้านบาท ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปี นับแต่วันที่กู้

ในส่วนของการชดเชยดอกเบี้ย ครม.ได้อนุมัติกรอบวงเงินรวม 2,164.1 ล้านบาท เป็น 1) ค่าชดเชยดอกเบี้ยธนาคารออมสิน ปีละ 150 ล้านบาท รวม 1,050 ล้านบาท และค่าชดเชยดอกเบี้ย ธ.ก.ส.ปีละ 159 ล้านบาท รวม 1,113 ล้านบาท โดยให้ธนาคารขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากสำนักงบประมาณตามที่เกิดขึ้นจริง 2) ค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการของกรมประมงและติดตามประเมินผล รวม 1.1 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรมประมงคล่องในการประกอบอาชีพประมง

โครงการนี้เป็นการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ โดยยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. แยกตามขนาดเรือประมง กรณีผู้ประกอบการมีเรือทั้ง 2 ขนาด ให้ผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อได้เพียงแห่งเดียว ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข คือ

1) ธนาคารออมสิน วงสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการที่มีเรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป สูงสุดไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท

2) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วงสินเชื่อรวม 5,300 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการที่มีเรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส สูงสุดไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท

โดยปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปี นับแต่วันที่กู้

สินเชื่อมี 2 ประเภท คือ 1) เงินกู้ระยะสั้น เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ 2) เงินกู้ระยะยาว เป็นเงินทุนในการปรับปรุงเรือ ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ทำประมง

คุณสมบัติของผู้กู้ 1) เป็นบุคคลธรรมดาอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ สัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย 2) เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในเรือประมงที่มีทะเบียนเรือไทย 3) เป็นผู้มีประสบการณ์ทำอาชีพประมงมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

หลักประกันการกู้สินเชื่อ ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือใช้หลายอย่างรวมกัน ตามเงื่อนไขของธนาคาร 1) ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง หรืออาคารชุด ที่มีเอกสารสิทธิสามารถจดทะเบียนจำนองได้ 2) เรือประมง 3) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน 4) บุคคลค้ำประกัน 5) หลักประกันอื่นๆ ตามที่ธนาคารกำหนด

น.ส.รัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมสภาพคล่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวแก่ผู้ประกอบการประมงทั่วประเทศ 2,820 ราย รวมเรือประมง 4,822 ลำ แบ่งเป็นเรือประมงพาณิชย์ 4,384 ลำ และเรือประมงพื้นบ้าน 438 ลำ ให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพประมงได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยว่า ครม.อนุมัติขยายกรอบเวลาโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562/63 จากเดิมที่กำหนดช่วงเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เป็นระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2562 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 และครม.อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562/63 วงเงินรวม 669.08 ล้านบาท จำแนกเป็น 1) วงเงินชดเชยส่วนต่างของเกษตรกรที่เพาะปลูกเดือนมิถุนายน 2562 วงเงิน 505.91 ล้านบาท 2) วงเงินงบประมาณส่วนขาด วงเงิน 147.39 ล้านบาท และ 3) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. วงเงิน 15.78 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เสนอ

น.ส.รัชดากล่าวว่า การขยายกรอบเวลาโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562/63 เพิ่ม 1 เดือน จะส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเดือนมิถุนายน 2562 จำนวน 151,749 ครัวเรือน ได้รับสิทธิประกันรายได้และได้รับเงินชดเชยส่วนต่างในอัตรา 0.29 บาทต่อกิโลกรัม เช่นเดียวกับเกษตรกรที่ปลูกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งคิดเป็นวงเงินรวม 505.91 ล้านบาท

ส่วนการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562/63 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรไปแล้ว 4 งวด จำนวน 122,039 ครัวเรือน เป็นจำนวน 431.73 ล้านบาท คงเหลือวงเงินชดเชย 467.76 ล้านบาท แต่จากการประมาณการวงเงินชดเชยให้เกษตรกรในงวดที่ 5-11 ต้องใช้วงเงินรวม 615.15 ล้านบาท จึงขาดงบประมาณอีก 147.39 ล้านบาท ครม.จึงได้อนุมัติงบประมาณ 669.08 ล้านบาท เพื่อดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างทั่วถึง


กำลังโหลดความคิดเห็น