“ประวิตร” ชี้ภาพรวมปัญหาภัยแล้งดีขึ้น หลังใช้วิธีสูบน้ำกลับท้ายอ่าง พร้อมเตรียมการรับน้ำฝนที่ตกลงมาในขณะนี้แล้ว เผยรองนายกฯสั่งทุกหน่วยงานบูรณาการขับเคลื่อนแผนจัดสรรน้ำทั้งระบบ รับมือ New normal เน้นประปาต้องมีคุณภาพ ย้ำกักเก็บน้ำฤดูฝน ช่วย ปชช.หน้าแล้ง
วันนี้ (18 พ.ค.) เมื่อเวลา 12.15 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ว่าได้มีการแก้ไขปัญหาภยแล้งไปหลายพื้นที่แล้วซึ่งภาพรวมดีขึ้นเราแก้ไขปัญหาโดยการสูบน้ำกลับทางด้านท้ายอ่าง เพราะน้ำในพื้นที่ตะวันออกมีน้อยแต่ก็ยังพอมีที่จะแก้ไขปัญหาไปได้ส่วนขณะนี้ที่มีฝนตกลงมาเราก็เตรียมการที่จะรับน้ำจากฝนที่ตกลงมาแล้วโดยสามารถที่จะเอาน้ำลงใต้ดินได้
ต่อมา พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร) เปิดเผยว่า วันนี้เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร ได้เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีพื้นที่ประสบภัยแล้งอีก จำนวน 29 จังหวัด 162 อำเภอ สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ตามมติคระรับมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ม.ค.63 ในพื้นที่ 44 จังหวัด จำนวน 2,041 โครงการ ได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว 1,626 โครงการ ดำเนินการแล้ว 715 โครงการคิดเป็นร้อยละ 50.21 จากนั้นที่ประชุม ได้เห็นชอบหลักการวางแผนการจัดสรรน้ำ และการเพาะปลูกฤดูฝนปี 2563 และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนดังกล่าวไปวางแผนปรับการใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงเห็นชอบหลักการ 8 มาตรการในการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับฤดูฝนปี 2563 ด้วย
พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ กล่าวต่อว่า พล.อ.ประวิตร ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ จะต้องสร้างความตระหนักรู้ ให้แก่พี่น้องประชาชน และทุกภาคส่วนได้มีความเข้าใจพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ทั้งการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าเพื่อให้การแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีแนวโน้มจะทวีเพิ่มมากขึ้น มีความราบรื่น และเกิดความยั่งยืนตลอดไป
“รองนายกฯได้กำชับคณะอนุกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน เร่งติดตาม ขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำและเน้นแก้ไขคุณภาพน้ำประปาให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน การแก้ภัยแล้งจะต้องมีเป้าหมายครอบคลุมทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเพื่อการรักษาระบบนิเวศ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับสูงสุด รองรับภาวะ New Normal ควบคู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ระบุ.