เกษตรฯ เล็งชง ครม.ทบทวนสิทธิ “เยียวยา 5 พัน” หลังพบกลุ่มข้าราชการประจำขอรับสิทธิพรึ่บ เผยล่าสุดมีคนผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับเงินเยียวยา 3 เดือน แล้ว 7 ล้านกว่าราย จากผู้ทะเบียน 8.33 ล้านราย
วันนี้ (14 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทบทวนสิทธิเกษตรกรที่จะได้รับเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะหากยึดมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2563 กลุ่มข้าราชการที่ทำการเกษตร และขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้แล้วก็จะได้รับสิทธิเงินเยียวยานี้ ดังนั้น จำเป็นต้องขอทบทวนสิทธิของผู้ได้รับเงินเยียวยา ไม่เช่นนั้นข้าราชการกลุ่มนี้ที่มีจำนวนมากพอสมควรก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐไปด้วย
ที่ผ่านมา สศก.ได้ส่งทะเบียนเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับขึ้นทะเบียนรับเงินเยียวยาเกษตรกรส่งให้กระทรวงการคลังตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน ทั้งในส่วนของลูกจ้างเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม และข้าราชการบำนาญแล้วข้อมูล ล่าสุดพบว่ามีความซ้ำซ้อนกันอยู่ประมาณ 7-8 แสนราย จากที่ สศก.ส่งทะเบียนเกษตรกรไปทั้งสิ้น 8.33 ล้านราย พบว่า คนผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ขณะนี้จึงมีเพียง 7 ล้านกว่ารายเท่านั้น
ขณะที่ เพจ “ไทยคู่ฟ้า” โพสต์ข้อความระบุว่า สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่ประสงค์ร่วมโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รายละ 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค. 63) ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยืนยันเยียวยาเกษตรกรกลุ่มแรกที่ลงทะเบียนในโครงการฯ และผ่านการตรวจสอบข้อมูลแล้ว โดยจะจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 63 เป็นต้นไป จำนวน 8.33 ล้านราย ผ่านกลไกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรรายใดไม่เข้าเกณฑ์การรับสิทธิการช่วยเหลือเยียวยาครั้งนี้ เช่น ไม่สามารถเพาะปลูกได้ในปีการผลิต 2563/64 ทางกระทรวงเกษตรฯ จะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้ในอนาคต แต่ขอให้เร่งขึ้นทะเบียน หรือปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบันภายในวันที่กำหนด
นอกจากนี้ ทางกระทรวงก็เตรียมจัดตั้ง “ศูนย์รับเรื่องอุทธรณ์ฯ” เพื่อเป็นช่องทางให้คำปรึกษาและให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากสาเหตุต่างๆ อีกด้วย