“ศรีสุวรรณ” โต้โฆษกสำนักงานสลากฯ ยันคณะกรรมการไม่มีอำนาจสั่งเลื่อนวันออกรางวัลได้ พ.ร.บ.ไม่อนุญาตให้ออกข้อบังคับเพิ่มเกินวัตถุประสงค์ ชี้ เลื่อนออกถึง 3 งวด มีพิรุธ รัฐเสียประโยชน์กว่า 5.4 พันล้าน เหตุผู้จองไม่มารับสลาก แล้วอ้างโควิด-19 เลื่อนออกรางวัล ชี้ ควรตั้งโต๊ะรับซื้อคืน โดยไม่ต้องเลื่อนวันออกสลาก
วันนี้ (17 เม.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย โฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันการพิจารณาเลื่อนการออกรางวัลสลากกินแบ่งงวดวันที่ 1 เม.ย. 63 ไปเป็นวันที่ 2 พ.ค. 63 และเลื่อนอีกครั้งเป็น 16 พ.ค. 63 ได้ทำตามระเบียบกฎหมายอย่างถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ซึ่งในมาตรา 13 ได้ให้คณะกรรมการสลากฯ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและวางนโยบายของสำนักงานสลากฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แล้วนั้น คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น เพราะเป็นเพียงการแก้ตัวที่ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักกฎหมายที่ถูกต้อง เพราะตาม พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ม.13 กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการ และวางนโยบายของสำนักงานฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมถึงการออกระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งเมื่อพิจารณาตาม ม.5 ของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดเจนว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มี “วัตถุประสงค์” เพียง 3 ข้อ คือ 1) ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล 2) จัดการโรงพิมพ์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการพิมพ์สลาก และพิมพ์สิ่งพิมพ์อื่นที่คณะกรรมการเห็นชอบ และ 3) กระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากฯ การที่คณะกรรมการกองสลากฯ มีมติเลื่อนการออกสลากออกไปถึง 3 งวด ถามว่าเป็นการดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสำนักงานสลากฯ ตรงไหน ส่วนข้ออ้างที่ว่าข้อบังคับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ว่าด้วยการออกรางวัล พ.ศ. 2555 นั้นเป็นการออกข้อบังคับที่ขัดต่อหลักกฎหมายของสลากกินแบ่งรัฐบาล ม.13 ซึ่งถือว่าเป็น “โมฆะ” ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการที่จะกระทำการออกระเบียบหรือข้อบังคับใดที่เกินไปกว่าวัตถุประสงค์ได้ นั่นเอง
“การเลื่อนการออกสลากในครั้งนี้ มีเงื่อนงำและข้อพิรุธหลายประการที่คณะกรรมการสลากฯ ไม่บอกความจริงกับประชาชนให้หมด เพราะการเลื่อนการออกสลากครั้งนี้ จะทำให้สำนักงานสลากฯ เสียประโยชน์ไปกว่า 5.4 พันล้านบาท จากการพิมพ์สลากออกมาจำหน่ายงวดละ 100 ล้านฉบับ โดยขายให้ผู้แทนจำหน่ายเล่มละ 7,040 บาท แต่เนื่องจากมีผู้ไปลงทะเบียนจองสลากไม่มารับสลากไปขายเป็นจำนวนมาก ทำให้สลากเหลือแต่สำนักงานสลากฯ กลับไม่มีมาตรการลงโทษให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่ผลักภาระไปให้กลุ่มอื่นๆ จำหน่ายแทน จนเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนการออกสลากฯ ออกไปโดยใช้โรคโควิด-19 มาอ้าง ซึ่งไม่คำนึงถึงผู้ซื้อสลากและข้อกฎหมายใช่หรือไม่ เช่นนั้น สำนักงานสลากฯ ควรที่จะต้องตั้งโต๊ะรับซื้อสลากคืนมาจากผู้ซื้อหรือประชาชนที่ซื้อสลากไปแล้ว แต่ไม่ยินยอมให้มีการเลื่อนการออกสลากดังกล่าวเสียจึงจะชอบ” นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด