กรุงเทพโพลล์ เผย ปชช.กว่าร้อยละ 42 ยังหาซื้อหน้ากากอนามัยไม่ได้ ร้อยละ 58 เชื่อขาดแคลนเพราะนายทุนกักตุนเก็งกำไร หวั่นกระทบการรักษาพยาบาล แนะเปลี่ยนคนมีความสามารถมาบริหารจัดการ ลงโทษหนักคนกักตุน
วันนี้ (14 มี.ค.) กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “วิกฤตการณ์ ตามหาหน้ากากอนามัย” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,199 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 42.7 ระบุว่า ปัจจุบันหาซื้อหน้ากากอนามัยไม่ได้เลย รองลงมาร้อยละ 23.2 ระบุว่า หาซื้อได้ยากถึงยากที่สุด ต้องตระเวนหาหลายร้าน หลายจุด และร้อยละ 14.8 ระบุว่าพอหาซื้อได้บ้าง ต้องซื้อ ณ จุด/ร้าน ที่รัฐประกาศขาย
ส่วนความเห็นต่อการจัดการปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน โดยภาครัฐ นั้น ประชาชนร้อยละ 58.0 เห็นว่า อาจเกิดการกักตุนหน้ากากอนามัย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนเก็งกำไร รองลงมาร้อยละ 53.8 เห็นว่า ขาดการกระจายสินค้าไปยังร้านค้าปลีก ร้านค้าส่งต่างๆ ทั่วประเทศ และร้อยละ 32.3 เห็นว่า ระบบการจัดการ อาจกระทบต่อการสาธารณสุข/การรักษาทางการแพทย์
ทั้งนี้ เมื่อให้วัดระดับความกังวลถึงผลกระทบต่างๆ หากขาดแคลนหน้ากากอนามัย จากระดับสูงสุด 5 พบว่า ประชาชนกังวลว่าจะกระทบต่อการแพทย์ สาธารณสุข การรักษาพยาบาล สูงที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.87 ซึ่งอยู่ในระดับ “มาก” รองลงมา กังวลว่าจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 มากขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.83 ซึ่งอยู่ในระดับ “มาก” และ จะส่งผลกระทบให้หน้ากากอนามัยมีราคาสูง/หาซื้อไม่ได้/ผู้มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงโดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.80 ซึ่งอยู่ในระดับ “มาก”
สำหรับสิ่งที่รัฐบาลควรแสดงบทบาทต่อแผนการจัดการหน้ากากอนามัย พบว่า ประชาชนร้อยละ 56.4 ระบุว่า รัฐบาลควรปรับเปลี่ยนให้ผู้มีความรู้ความสามารถมาบริหารจัดการแทน รองลงมาร้อยละ 52.6 ระบุว่า ให้ลงโทษผู้กักตุนหน้ากากอนามัยด้วยโทษสถานหนัก และร้อยละ 45.4 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีควรลงมาดูและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ควรเชื่อเพียงการรายงาน