xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมมลพิษ ยัน ครม.แก้ปัญหาPM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ ปีนี้ดีขึ้นกว่าปีก่อน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงชี้แจงนอกสภา ประเด็นอภิปรายการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ย้ำครม.เห็นความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ สถานการณ์ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว

วันนี้ (26ก.พ.) นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงชี้แจงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งเป็นประเด็น ที่มีการหยิบยกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 มีการวัดค่าและพบปัญหาสูงกว่า 59 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรมาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว ซึ่งขณะนั้นมีสถานีวัดคุณภาพอากาศ PM 2.5 ที่เขตดินแดงเพียงสถานีเดียว ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าปัญหาคุณภาพอากาศเกินมาตรฐาน อาจจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นมีสถานีวัดคุณภาพอากาศเพียง PM 10 เท่านั้น จนกระทั่งปี 2561 มีสถานีวัดคุณภาพอากาศ 43 สถานี และเดือนนี้จะทำให้ครบทั้งหมด 50 สถานี

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงว่า มีปัจจัยหลักๆ 2 ปัจจัย คือปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ด้านอุตุนิยมวิทยา ทั้งความกดอากาศสูงและมวลอากาศเย็น ทำให้เกิดภาวะฝาชี เกิดค่าฝุ่นสะสม และควบคุมไม่ได้ ส่วนอีกปัจจัยคือแหล่งกำเนิดฝุ่นที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเกิดจากการขนส่งถึงร้อยละ 72.5 ซึ่งกรมควบคุมมลพิษมีการประเมินบทเรียนตั้งแต่ปี 2562 โดยวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 คณะรัฐมนตรีประกาศให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ , วันที่ 30 กันยายน 2562 นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมหน่วยงานเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหา , วันที่ 1 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ , วันที่ 9 ตุลาคม 2562 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชุมระดับอาเซียนที่ประเทศกัมพูชา เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา , วันที่ 10 ตุลาคม 2552 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายเตรียมพร้อมรับมือหมอกควันภาคเหนือปี 2563 , วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 นายกรัฐมนตรีประชุมทางไกลกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง , และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง มอบแนวทางการดำเนินงานและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมี 3 มาตรการหลัก ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยมาตรการที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและในช่วงวิกฤต , มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางหรือแหล่งกำเนิด ทั้งการแก้ไขปัญหาระยะสั้นปี 2562 ถึง 2564 และระยะยาวปี 2565 ถึง 2567 , และมาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ทั้งการแก้ไขปัญหาระยะสั้นปี 2562 ถึง 2564 และระยะยาว 2565 ถึง 2567

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สรุปว่า การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 เพราะจำนวนวันที่มลพิษเกินค่ามาตรฐานลดลงเรื่อยๆ พร้อมย้ำว่าปัญหา PM 2.5 เกิดมานานแล้ว และภาครัฐมีมาตรการต่างๆ ค่อนข้างรัดกุม และสำคัญที่สุดคือภาคประชาชนทุกคนพร้อมใจกันช่วยให้ความร่วมมือ




กำลังโหลดความคิดเห็น