xs
xsm
sm
md
lg

โพลไม่ค่อยพึงพอใจ รบ.รับมือภัยแล้ง เหตุเกษตรกรยังเดือดร้อน จี้แก้ตรงจุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวนดุสิตโพลสำรวจเรื่องภัยแล้ง ส่วนใหญ่เป็นห่วง วิกฤตหนักกว่าทุกปี ปชช.ได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แนะใช้น้ำอย่างประหยัด เท่าที่จำเป็น ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาให้ตรงจุด ไม่ค่อยพึงพอใจการรับมือของรบ. เหตุเกษตรกรยังได้รับความเดือดร้อน

วันนี้ (12 ม.ค.) สถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 เริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกษตรกรในหลายพื้นที่ และคาดว่าปัญหาภัยแล้งรอบนี้จะนานถึง 6 เดือน ขณะที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีแนวทางการรับมือกับภัยแล้ง เร่งดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำ พร้อมแผนดูแลทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,194 คน ระหว่างวันที่ 8-11 มกราคม 2563 เรื่องประชาชน กับการรับมือภัยแล้ง สรุปผลได้ ดังนี้

1. ประชาชนคิดอย่างไรกับสถานการณ์ภัยแล้ง ณ วันนี้ อันดับ 1 รู้สึกเป็นห่วง กังวล เข้าขั้นวิกฤต รุนแรง แล้งหนักกว่าทุกปี 43.80% อันดับ 2 กลัวไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ ประชาชนเดือดร้อน สงสารชาวนาและสัตว์ต่างๆ 26.51% อันดับ 3 ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการป้องกันและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 22.19% อันดับ 4 สร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร และกระทบเศรษฐกิจ 16.14% อันดับ 5 รัฐบาลต้องรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง บอกความจริง ไม่ปิดบัง 10.37%

2. ประชาชนได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด อันดับ 1 ได้รับผลกระทบอยู่บ้าง 48.99% ผลกระทบที่ได้รับ คือ น้ำประปาเค็ม น้ำขุ่น ไม่สะอาด น้ำไม่แรง อากาศร้อนอบอ้าว มีผลต่อสุขภาพอนามัย ฯลฯ อันดับ 2 ได้รับผลกระทบมาก 32.17% ผลกระทบที่ได้รับ คือ ไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม พืชผลเสียหาย สัตว์เลี้ยงเป็นโรค ขาดน้ำ ขาดอาหาร ฯลฯ อันดับ 3 ไม่ได้รับผลกระทบ 18.84% เพราะ สถานการณ์เพิ่งเริ่มต้น อยู่ในเมือง ใกล้แหล่งน้ำ มีน้ำสำรองไว้ใช้ได้นานหลายเดือน ฯลฯ

3. ประชาชนคิดว่าควรมีแนวทางการรับมือ กับสถานการณ์ภัยแล้ง ณ วันนี้อย่างไร


3.1) “ประชาชน” ควรมีแนวทางการรับมือ คือ อันดับ 1 ใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้เท่าที่จำเป็น 70.79% อันดับ 2 วางแผนการใช้น้ำ หาภาชนะ สำรองน้ำไว้ใช้ 27.94% อันดับ 3 แนะนำ บอกต่อให้ทุกคนรักษาสิ่งแวดล้อม 23.81%

3.2) “ภาครัฐ” ควรมีแนวทางการรับมือ คือ อันดับ 1 ทุกฝ่ายช่วยกัน ทำงานรวดเร็ว แก้ปัญหาตรงจุด 52.43% อันดับ 2 หาแหล่งน้ำสำรอง ขุดเจาะน้ำบาดาล ฝนเทียม 33.66% อันดับ 3 รณรงค์ ประกาศ แจ้งเตือน ให้ทุกคนตื่นตัว 31.07%

4. ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการเตรียมการรับมือภัยแล้งของรัฐบาลมากน้อยเพียงใด อันดับ 1 ไม่ค่อยพึงพอใจ 47.44% เพราะเกษตรกรยังคงได้รับความเดือดร้อน ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ไม่มีการแก้ปัญหาระยะยาว ฯลฯ
อันดับ 2 ไม่พึงพอใจเลย 35.64% เพราะเป็นปัญหาซ้ำซากเกิดขึ้นทุกปี ไม่มีการเตรียมพร้อม ไม่มีการรับมือ ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเอง ฯลฯ อันดับ 3 ค่อนข้างพึงพอใจ 14.62% เพราะรัฐบาลเร่งดำเนินการช่วยเหลือ อนุมัติงบประมาณ พยายามแก้ไขปัญหา นำเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน ฯลฯ อันดับ 4 พึงพอใจมาก 2.30% เพราะนายกฯ ให้ความสำคัญ ดูแลใกล้ชิด มีหน่วยงานหลายฝ่ายให้ความร่วมมือและทำงานอย่างเต็มที่ ฯลฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น