"รสนา" อัด กบง.ยังนิ่งไม่มีคำสั่งตัดค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซินที่เก็บเกินจากประชาชนลิตรละ 47 สตางค์ ปล่อยให้โรงกลั่นน้ำมันกินฟรีมา 5 เดือน ตั้งข้อสงสัยรัฐทำหน้าที่กำกับธรรมาภิบาลของกลุ่มทุนพลังงานได้แค่ไหน เพียงใด ??! รัฐกำกับทุน หรือทุนกำกับรัฐกันแน่??!
วันที่ 28 ธ.ค.62 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อ “ประชาชนต้องการรัฐกำกับทุน หรือให้ทุนกำกับรัฐ !?!” ว่า...
อนุสนธิจากบทความของดิฉันที่กล่าวถึงประเด็นโรงกลั่นเก็บเงินค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซินจากคนไทยเกินไปลิตรละ 47 สตางค์ หรือประมาณวันละ15ล้านบาทตั้งแต่วันที่1 ก.ค 2562 เป็นต้นมาโดยที่คณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.)ไม่ได้ดำเนินการใด และที่ประชุมเมื่อวันที่13 ธ.ค ที่ผ่านมาได้ตกลงว่าจะให้กบง.พิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว
แต่จนใกล้สิ้นปีแล้วก็ไม่ปรากฎว่ามีการประชุมของ กบง.และไม่มีคำสั่งตัดค่าปรับปรุงคุณภาพส่วนนี้ออกไปจากราคาน้ำมันที่เก็บเกินจากประชาชนมา5เดือนแล้ว
จากข่าวของสื่อมวลชนรายงานว่าโฆษกกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์ว่า “เรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างหารือ ซึ่งเราได้ทำข้อตกลงไว้แล้วว่า จะไม่มีการออกสื่อ จนกว่าจะได้ข้อสรุปอย่างแท้จริงเสียก่อน ให้ทุกฝ่ายเปิดใจลดอัตตา การทำงานให้เอาประชาชนเป็นตัวตั้งเสมอ ไม่นำการประชุมนี้ที่ทุกฝ่ายตั้งใจมาทำงานร่วมกันไปสร้างชื่อ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว การให้ข้อมูลด้านเดียว จะทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลด้านเดียว ไม่เกิดประโยชน์ และยืนยันว่า ‘ราคาที่เป็นธรรม คือเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง’ “
ดิฉันต้องขอชี้แจงว่า สิ่งที่นำมาเปิดเผยนั้นเป็นข้อมูลที่อยู่ในสูตรค่าพรีเมี่ยมที่บวกอยู่ในราคาเนื้อน้ำมันจากโรงกลั่น ที่เปิดเผยโดยทั่วไปอยู่แล้ว มิใช่ชั้นข้อมูลลับอะไรของโรงกลั่นที่ได้มาจากการพูดคุยกันในที่ประชุมเลย ดังนั้น โฆษกจึงไม่ควรดราม่าตีกินทำลายฝ่ายประชาชนที่เร่งรัดให้ตัดค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซิน 47สต./ลิตรที่กบง.ปล่อยให้โรงกลั่นน้ำมันกินฟรีประชาชนมา 5 เดือนนั้น ว่าเป็นการนำเอาความลับในที่ประชุมมาเปิดเผยเพื่อเอาหน้าสร้างชื่อให้ตัวเองและผิดข้อตกลงในที่ประชุม
นับตั้งแต่รมว.สนธิรัตน์พบกลุ่มผีเสื้อกระพือปีกที่ข้างทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 13 พ.ย 2562 และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม และมีการประชุมนัดแรก เมื่อวันที่21 พ.ย 2562 จนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าและข้อสรุปเป็นชิ้นเป็นอัน
ข้อเรียกร้องให้โรงกลั่นขายเนื้อน้ำมันที่กลั่นในประเทศไทยให้คนไทยในราคาเดียวกับที่โรงกลั่นส่งออกไปขายที่สิงคโปร์นั้น คณะทำงานในฝ่ายประชาชน ยังไม่เคยเห็นข้อมูลต้นทุนราคาเนื้อน้ำมันของโรงกลั่นเลย ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการขอว่าไม่ให้เปิดเผยจนกว่าจะมีข้อตกลงว่าปรับลดอย่างไร แต่ส่วนของค่าปรับปรุงคุณภาพนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่เคยบวกอยู่ในต้นทุนเนื้อน้ำมันเพราะอ้างว่าราคาสิงคโปร์ที่ไทยใช้อ้างอิง เป็นมาตรฐานยูโร3 ส่วนของไทยเป็นยูโร4 จึงต้องคิดเงินคนไทยเพิ่มขึ้น ในขณะที่ขายน้ำมันเบนซินยูโร4 ให้สิงคโปร์ในราคายูโร3
เมื่อสิงคโปร์เปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันเบนซินเป็นยูโร4 แล้วตั้งแต่ 1 ก.ค 2562 กบง.ต้องควบคุมให้โรงกลั่นตัดค่าปรับปรุงส่วนนี้ออก แต่ก็ไม่ได้ทำ จนประชาชนทักท้วง ทางทีมงานของกระทรวงพลังงานก็รับปากว่าจะดำเนินการโดยเร็ว แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการตามที่รับปาก ดิฉันจึงต้องออกปากทวงถาม
เรื่องการคิดค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุครัฐบาลนี้ แต่เป็นเรื่องเก่าที่ดิฉันเคยตรวจสอบเมื่อสมัยที่เป็นประธานกรรรมาธิการศึกษาและตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ดิฉันเคยเรียนเชิญอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานในสมัยนั้นมาชี้แจง ซึ่งอธิบดีคนดังกล่าวตอบ กมธ.ว่าต้องขายน้ำมันยูโร4 ในราคาขยะ คือขายน้ำมันยูโร4 ในราคายูโร3 แต่เมื่อไทยอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ที่เป็นยูโร3 จึงต้องคิดเงินคนไทยเพิ่มเป็นยูโร4 อีก47 สต./ลิตร เท่ากับให้คนสิงค์โปร์ได้ใช้น้ำมันยูโร4จากโรงกลั่นไทยในราคาถูก แต่คนไทยต้องใช้ในราคาแพง เป็นการเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้างสิงค์โปร์ ใช่หรือไม่?
การที่โฆษกกระทรวงพลังงานกล่าวอ้างว่า ราคาที่เป็นธรรมต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขอถามว่าประชาชนเคยได้รับความเป็นธรรมหรือไม่จากการกำกับของหน่วยงานรัฐ!?
บทความที่ดิฉันทวงถามเรื่องการตัดค่าใช้จ่ายที่เก็บเกินนั้นอาจจะทำให้รัฐมนตรีสนธิรัตน์เดือดร้อน ทั้งที่ไม่ใช่เป็นความผิดของท่านรมต.เลย เพราะที่ผ่านมาภาคประชาชนมีความสับสนว่ารัฐทำหน้าที่กำกับธรรมาภิบาลของกลุ่มทุนพลังงานได้แค่ไหน เพียงใด ??! รัฐกำกับทุน หรือทุนกำกับรัฐกันแน่??! เพราะที่ผ่านมาการตัดสินใจกำหนดกติกา หรือบังคับใช้กติกาของรัฐ ส่วนใหญ่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มทุนพลังงานเสียก่อนใช่หรือไม่ ??!
การที่บอกว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายตามที่ฝ่ายการเมืองพูดนั้น น่าจะดร่าม่าเกินจริง เพราะที่ผ่านมาประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านราคาพลังงานจากการบริหารงานของภาครัฐเท่าที่ควร สิ่งที่ดิฉันพูด พิสูจน์ง่ายๆได้โดยถามคนไทยทั้งประเทศดูว่า จริงหรือไม่???
และขอให้ติดตามกันต่อไปว่า จากการทวงถามเรื่องการเก็บเงินกินฟรีนี้ จะนำไปสู่ดราม่าล้มโต๊ะคณะทำงานพลังงานเพื่อความเป็นธรรมหรือไม่??