มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รณรงค์ผ่านเวปไซต์ change.org ขอ ปชช.ลงชื่อ หยุดขึ้นค่าผ่านทางดอนเมือง-โทลล์เวย์ มองเอื้อเอกชน ติวกรมทางหลวงเกียร์ว่าง
วันนี้ (22ธ.ค) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้คุ้มครองฉุกเฉินไม่ให้ขึ้นค่าโทลล์เวย์ 22 ธันวาคมไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางมูลนิธิผู้บริโภค ได้ทำแคมเปญรณรงค์ผ่านเวป change.org เพื่อให้ประชาชนร่วมลงชื่อ “หยุดขึ้นค่าผ่านทางดอนเมือง-โทลล์เวย์” โดยระบุเหตุผลสี่ข้อที่ไม่ควรขึ้นค่าผ่านทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ คือ 1 รัฐบาลมีมติ ครม.เอื้อเอกชน (มติ ครม. วันที่ 11 เมษายน 2549 และวันที่ 10 เมษายน 2550)
1.1 ขยายอายุสัมปทาน ไปอีกถึงปี 2577 จากเดิมที่จะสิ้นสุด 20 สิงหาคม 2557
1.2 ทำให้บริษัทกำหนดค่าผ่านทางได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐ
1.3 ครม.ทำตัวเลขผลประกอบการขาดทุนสูงเกินจริง มาอ้างเป็นเหตุขอปรับแก้ไขสัญญาจนเกิดภาระต่อประชาชน 2 การปรับราคาค่าผ่านทาง อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเพิกถอนมติ ครม. ที่อนุญาตให้บริษัทปรับค่าผ่านทางได้โดยไม่ต้องขออนุญาต อีกทั้ง หากกรมทางหลวงอนุญาตให้ปรับในครั้งนี้ได้อีก จะเกิดความเสียหายต่อประชาชนและรัฐจนยากเกินเยียวยา 3 การแก้ไขสัญญา อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เพราะไม่เป็นไปตาม รธน.ปี 40 มาตรา 59 และ รธน.ปี 50 มาตรา 57 ที่รับรองสิทธิประชาชนในการได้รับข้อมูลและเหตุผลจากรัฐ ก่อนอนุญาตโครงการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน และ 4 อัตราค่าผ่านทางสูงเกินจริง เพราะใช้วิธีประกาศล่วงหน้า ไม่ได้คำนวณโดยใช้ดัชนีผู้บริโภค ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐพบว่าค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ สูงกว่า ค่าผ่านทางของการทางพิเศษ (กทพ.) 2 - 3 บาทต่อกิโลเมตร
นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงการขึ้นราคาโทลล์เวย์ว่าใครได้ใครเสีย ไว้ดังนี้ มติครม.ที่ให้เอกชนสามารถขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใด ๆ ทำให้เอกชนเพียงแค่ติดประกาศให้ประชาชนรับทราบ 30 วันก่อนที่จะขึ้นราคาได้ ถือว่าเป็นการนำอำนาจของรัฐให้แก่เอกชน ซึ่งไม่ถูกต้อง โทลล์เวย์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หมายถึงทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้นหากโทลล์เวย์ขึี้นราคา ประชาชนเป็นผู้ที่เสียผลประโยชน์ อีกทั้งประชาชนควรจะได้ใช้โทลล์เวย์ฟรีตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติ ครม.ที่ให้เอกชนสามารถขึ้นราคาและขยายสัมปทานเมื่อปี 2558 แล้ว แต่กรมทางหลวงกลับไม่ดำเนินการใด ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนเลย