xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ประชุม ป.ป.ส.ขับเคลื่อนแก้ยาเสพติด เพิ่มสารคีตามีน ต้องเข้ารับการบำบัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุม ป.ป.ส.ครั้งที่ 1/2562 เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามยุทธศาสตร์ชาติ เพิ่มสารคีตามีนต้องเข้ารับการบำบัด

วันนี้ (6 ธ.ค.) เวลา 13.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 1/2562 พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อัยการสูงสุด รวม 50 คน โดยมี พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ และนายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นกรรมการฯ ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาร่างแผนปฏิบัติการด้านการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2563-2565 และร่างแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2563 ตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายใต้ข้อเน้นย้ำของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล แผนดังกล่าวจะเป็นแผนที่ชี้นำการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด และลดระดับความรุนแรงของปัญหา ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยการบูรณาการ นโยบาย และแผนแต่ละระดับที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกรอบในการบริหารจัดการทรัพยากร ประสานการปฏิบัติ กำกับติดตาม ประเมินผล และนำไปสู่การปฏิบัติ ได้อย่างชัดเจนและมีรูปธรรม สำหรับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ที่ประชุมยังได้ให้ความเห็นชอบในการปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด มีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่ โดยให้เพิ่ม “คีตามีน” ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 มีแนวโน้มที่มีการแพร่ระบาดที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กหรือเยาวชน และสถานบันเทิง ในประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่ ลงวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เพื่อให้ได้รับโอกาสในการเข้ารับการบำบัด

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังร่วมรับฟังสรุปสถานการณ์ยาเสพติด ปีงบประมาณ 2562 และผลการดำเนินงาน ตามแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. 2558-2562 รวมถึงความคืบหน้าการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ และการศึกษาวิจัย และการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด


กำลังโหลดความคิดเห็น