ครม.ลุงตู่ รับรายงาน "งบกองทุนผู้ทรงเกียรติ ในสภาฯ" ตั้งแต่ปี 57 ยังเหลือกว่า 2 พันล้าน ปีเดียวเบิก 299 ล้าน สั่งสำนักเลขาสภาฯ แจงพ่วง "เงินหมุนเวียน ขรก.กู้ยืมเพื่อชำระหนี้สิน" ในอนาคต พบปีฯ61 ยุคสภา สนช. เบิกกันพรึ๊บ! ทุนเลี้ยงชีพ 1,776 ราย 281 ล้านบาท เงินรักษาพยาบาล 12 ล้าน ช่วยเหลือทุพพลภาพ 9.5 แสน ช่วยเหลืองานศพ/พวงหรีด 3 ล้านเศษ ช่วยค่าศึกษาบุตร 1 ล้าน พบปี 63 ส.ส.ปัจจุบัน เจียดให้แล้ว 31.5 ล้าน ส่วนเงินอุดหนุนปี 63 ขอรัฐ 234 ล้าน เพิ่มจากเดิม 46 ล้าน
วันนี้ (22 พ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมาได้รับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2561 "กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา" จาก สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
โดย ครม.ในวันนั้น มีมติว่า ในปีต่อ ๆไป ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประสานการดำเนินการกับหน่วยงานในสังกัด เพื่อให้รายงานประจำปี ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา และเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกู้ยืมเพื่อชำระหนี้สิน พร้อมกับรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตามนัยมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561(ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับรายงานจาก สตง.) ต่อครม. ในคราวเดียวกัน
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2561ในช่วง "สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง" พบว่ามีรายการที่ให้บริการเบิกจ่าย ได้แก่ 1. เงินทุนเลี้ยงชีพ 1,776 ราย 281,302,315.06 บาท 2. เงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล 880 ราย 12,429,853.26 บาท 3. เงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพ 17 ราย 950,483.87 บาท 4. เงินช่วยเหลือกรณีถึงแก่กรรม 32 ราย 3,200,000 5. เงินช่วยเหลือกรณีการให้การศึกษาบุตร 75 ราย 1,155,647.75 บาท 6. ค่าพวงหรีด 7 ราย 7,000 บาท และ 7. ค่าเบี้ยการประชุม/สัมมนา 74,600 บาท
"ปี 2557 เบิก 279 ล้านบาท ปี 2558 เบิก 531 ล้านบาท ปี 2559 เบิก 328 ล้านบาท ปี 2560 เบิก 330 ล้านบาท และ ปี 2561 เบิก 299 ล้านบาท"
ตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 "กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา" ได้กำหนดทิศทางตามแนวนโยบายการบริหารกองทุนฯ ยึดถือตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ยุทธศาสตร์กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - 2564 (ฉบับปรับปรุง) แนวนโยบายการบริหารกองทุนของประธานกองทุนฯ
อย่างไรก็ตาม ตามแผนปฏิบัติการประจาปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กองทุนไม่ได้กำหนดรายได้จากการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน เนื่องจากต้นปีไม่มีสมาชิกรัฐสภา (ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ กำหนดให้สมาชิกรัฐสภาต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน คนละ 3,500 บาท)
สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สามารถประมาณการรายได้จากการเก็บเงินสมทบจากสมาชิกรัฐสภาเข้ากองทุนได้ จำนวน 31,500,000 บาท โดยฐานะการเงินของกองทุน ก่อนปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รายได้ส่วนใหญ่มาจากเงินงบประมาณแผ่นดินที่กองทุนได้รับจัดสรร (ตั้งแต่ปี 2557 - 2562) จำนวนทั้งสิ้น 1,999,380,200 บาท
"ในปีงบประมาณ 2563 ที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการงบประมาณฯ ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอทบทวน งบอุดหนุนจากรัฐ เพื่อ "กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา" วงเงิน 234,062,800 บาท โดยพบว่า มีการขอเพิ่มขึ้นจากเดิม 46,541,600 บาท"
ส่วนงบประมาณปี 2563 รายการที่ขอปรับเพิ่มที่น่าสนใจ เช่น เพิ่มสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และคณะกรรมาธิการ(กมธ.) จำนวน 185 ล้านบาทเศษ เป็นการเพิ่มค่ารักษาพยาบาล จาก 25 ล้านบาท เพิ่มเป็น 78.8 ล้านบาท หรือเพิ่มอีก 53.8 ล้านบาท เพิ่มค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พักและค่าพาหนะ จาก 275.4 ล้านบาท เป็น 276.5 ล้านบาท หรือเพิ่มอีก 1.14 ล้านบาท เพิ่มค่าอาหารเลี้ยงรับรอง ส.ส. จาก 67.2 ล้านบาท เป็น 96.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29.6 ล้านบาท และค่าอาหารรับรองคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน จาก 798,000 บาทเป็น 1.26 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 462,000 บาท
ยังขอเพิ่มงบฯ ในส่วนของกมธ. ประกอบด้วย เพิ่มค่าเบี้ยเลี้ยงการประชุมกรรมาธิการ จาก 132 ล้านบาท เป็น 139,610,000 บาท หรือเพิ่มอีก 7.26 ล้านบาท เพิ่มค่าอาหารรับรอง กมธ.ส.ส. จาก 72.9 ล้านบาท โดยขอเพิ่มเท่าตัวเป็น 151.2 ล้านบาท หรือ 78,.2 ล้านบาท ที่น่าสนใจ มีการขอทบทวนเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ภายในประเทศของ กมธ.วิสามัญ (ค่ารับรอง) ใหม่ จำนวน 15 ล้านบาท.