"ประยุทธ์" ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เผย ไทยเน้นย้ำส่งเสริมความร่วมมือด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงยุทธศาสตร์ เตรียมพร้อมรับมือความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบต่างๆ
วันนี้ (4 พ.ย.) เวลา 13.30 น. ณ ห้อง Sapphire 205-206 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ครั้งที่ 14 ภายหลังเสร็จสิ้น ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ครั้งที่ 14 จัดขึ้นเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและทบทวนความร่วมมือและบทบาทของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีประเทศที่เข้าร่วมใน EAS จำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐฯ
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 14 พร้อมกล่าวว่า “EAS” เป็นเสาหลักของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของภูมิภาคและโลก และอยู่ในจุดสูงสุดของโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ทำให้ EAS มีความสำคัญและมีบทบาทในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ไทยได้ให้ความสำคัญกับ EAS ในการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับมือกับความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อสันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการส่งเสริมความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืน โลกาภิวัฒน์และการเชื่อมโยงกันในมิติต่าง ๆ นำมาซึ่งโอกาสทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ ที่พร้อมกับความเชื่อมโยง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีขอบคุณและขอความร่วมมือผู้นำทุกคน ในการขับเคลื่อน EAS เพื่อเพิ่มพูนความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงยุทธศาสตร์ และแก้ไขปัญหาความท้าทายต่าง ๆ เพื่อให้ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ (win-win solution) และสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่าง EAS กับกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ในภูมิภาค เพื่อให้เกิดการสอดประสานระหว่างกัน (synergy) มากที่สุด