ประธานสภาฯ ยินดีจับเข่าคุยแก้ รธน.กับทุกกลุ่ม เพื่อตกผลึกความคิด แนะเชิญฝ่ายที่ได้รับผลกระทบร่วมหารือ เน้นสร้างสรรค์ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะทุกฝ่ายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ
วันนี้ (29 ต.ค.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงที่ภาคประชาสังคมจะมายื่นเรื่องต่อสภาเพื่อให้แก้รัฐธรรมนูญ ว่า ตนยินดีที่จะหารือกับทุกคณะ เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ ซึ่งขณะนี้มี 2-3 คณะ ส่วนคณะของ นายโคทม อารียา ผู้อำนวยศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ยังไม่ได้นัดวันที่จะมาพบ เพียงแต่เป็นข่าวเท่านั้น ส่วนกลุ่มอื่นตนนัดไว้สัปดาห์ก่อน แต่ฝ่ายผู้นัดไม่ว่าง แต่ละคนจะไ้ด้มารับรู้รับทราบ และหากมีอะไรที่เป็นประโยชน์ก็ยินดีให้ความร่วมมือและรับฟัง ซึ่งตนคิดว่าแต่ละฝ่ายคงมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันได้ในบางเรื่อง เช่น ความคิดเรื่องประชาธิปไตย ก็คงไม่ต่างกันมากนัก ฉะนั้น ความคิดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถทำความเข้าใจกันได้ว่าในสภาไปถึงไหนแล้ว เพราะเมื่อเปิดสมัยประชุมมา ญัตติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเข้าสู่สภาเป็นเรื่องแรก ฉะนั้น ก็จะได้คุยกันว่าเบื้องต้นขณะนี้เขาพยายามหาทางที่จะวางแนวว่าทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญนี้สามารถแก้ได้ ส่วนแก้อะไรนั้นยังไม่พูดถึง
เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรให้ทุกอย่างมาอยู่ในระบบของสภา เพราะภาคประชาชนไปเคลื่อนไหวข้างนอก นายชวน กล่าวว่า การรณรงค์ข้างนอกเพื่อให้ความรู้กับประชาชนนั้นไม่เป็นไร แต่ต้องให้ความจริงและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ส่วนที่ว่าโครงสร้างที่วางไว้คล้ายกับ ส.ส.ร.นั้น ตนคิดว่าต้องคุยกัน รวมถึงฝ่ายที่จะได้รับผลกระทบ เช่น ส.ว. ก็ต้องเชิญมาคุยว่าหากจะแก้ไขปรับปรุงจะกระทบเขาจริงหรือไม่ หรือควรจะมีเงื่อนเวลาอย่างไร ดังนั้นคิดว่าทุกฝ่ายควรจะพูดคุยกัน ซึ่งก็คงไม่ง่ายนักแต่ดีกว่าไม่คุยกัน แม้กระทั่งรัฐบาลเองเพราะทุกฝ่ายก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้เหมือนกัน
เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนี้ใครควรที่จะเป็นแม่งานในการนัดหมายทั้งหมดมาพูดคุยกัน นายชวน กล่าวว่า ต้องรอดูคณะกรรมาธิการที่สภาจะตั้งขึ้นมา โดยญัตติที่จะเข้าสภาวาระแรกนั้นจะเป็นแนวทางว่าทำอย่างไรถึงจะสามารถกำหนดแนวทางในการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปได้หรือมีประเด็นว่าจะต้องแก้ ส.ส.หรือ ส.ว.อย่างไร
“ผมคิดว่าการคิดอย่างนี้เป็นการคิดในเชิงสร้างสรรค์ แบบไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า เช่น ยกเลิกรัฐธรรมนูญไม่เอานั่นเอานี่ ซึ่งไม่ถึงขนาดนั้นแต่โดยบทรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำได้ยาก จึงต้องหาทางว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเป็นได้”
เมื่อถามว่าโดยส่วนตัวจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมาพูดถึง ม.256 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่าย นายชวน กล่าวว่า แล้วแต่คณะกรรมาธิการ จะหารือกัน ส่วนความเป็นไปได้ที่จะให้ภาคประชาชนเช่น นายโคทม เข้ามาเป็นกรรมาธิการด้วย นายชวน กล่าวว่า แล้วแต่เขาจะตั้ง เพราะกรรมาธิการชุดนี้สามารถตั้งคนนอกได้