มท.แบ่งเกรดจังหวัดใหม่ 3 ระดับ จัดงบปี 63 "ผู้ว่าฯบูรณาการ" 120 ล้าน ลง 76 จังหวัด เว้น กทม. แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประชาชนระดับเร่งด่วนในจังหวัด เน้นแก้ปัญหาเร่งด่วนไม่มีงบแหล่งอื่น ห้ามนำไปใช้จ่ายสารพัดทั้งดูงาน จัดประชุม ส่งเสริมการค้า เฉลิมฉลอง ปรับภูมิทัศน์ ค่าไฟ/น้ำ เบี้ยเลี้ยง/โอที ดูงาน เผย 3 ระดับ ขนาดเล็ก 28 จังหวัด ได้แห่งละ 1.52 ล้าน ขนาดกลาง 22 จังหวัด ได้ 1.58.28 ล้าน และ ขนาดใหญ่ 26 จังหวัด ได้ 1.64 ล้าน
วันนี้ (25 ต.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนาม เพื่อโอนจัดสรรงบประมาณเบิกจ่าย/ก่อหนี้ผูกพันตามงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 งวดแรก (ไตรมาสที่ 1 ปละไตรมาสที่ 2) ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในการสนับสนุนแก้ไขปัญหาความเร่งด่วนของประชาชนในจังหวัด ทั่วประเทศ วงเงินรวม 120,644,000 บาท โดยบประมาณงวดแรก ดำเนินการไปตามระเบียบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2562 ไปพลางก่อน
ทั้งนี้ ตามวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาความเร่งด่วนของประชาชน และไม่มีงบประมาณจากแหล่งอื่นใดที่จะสนับสนุนได้ หรือสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และวาระแห่งชาติซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะแจ้งให้ทราบเป็นรายกรณี
กระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณฯ โดบแบ่งขนาดของจังหวัดเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จังหวัดขนาดเล็ก 28 จังหวัดๆ ละ 1,529,000 บาท กลุ่มที่ 2 จังหวัดขนาดกลาง 22 จังหวัดๆ ละ 1,589,000 บาท และกลุ่ม 3 จังหวัดขนาดใหญ่ 26 จังหวัดๆ ละ 1,649,000 บาท โดบให้ดำเนินการผูกพันให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค.2563 ส่วนไตรมาสต่อไปเบิกจ่ายในวงเงินที่เหลือถึง ส.ค. 2563 โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากพื้นที่ จำนวนประชากร อำเภอ รายได้เฉลี่ยครัวเรือน
ทั้งนี้ ให้พิจารณาแก้ปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชน และไม่มีงบประมาณจากแหล่งอื่นที่จะสนับสนุนและดำเนินการได้ รวมถึงสนับสนุนนโยบายรัฐบาลและสาระแห่งชาติ
"อย่างไรก็ตาม ห้ามนำไปใช้จ่าย เช่น ศึกษาวิจัย ดูงาน จัดประชุม กิจกรรมส่งเสริมการค้า นิทรรศการ งานเฉลิมฉลอง ปรับภูมิทัศน์หน่วยราชการ จัดซื้อคุรุภัณฑ์ ฝึกอบรมสัมมนา รวมทั้งค่าสาธารณูโภค เบี้ยเลี้ยง ล่วงเวลา ค่าเดินทางไปราชการ อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นเร่งด่วนเพิ่มเติมให้เสนอมายังกระทรวงมหาดไทย”
สำหรับการจัดสรรงบประมาณ ใน 3 กลุ่มใหม่ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย ลำพูน อุตรดิตถ์ อุทัยธานี บึงกาฬ มุกดาหาร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ ชัยนาท นครปฐม นนทบุรี เพชรบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ตราด ระยอง นครนายก ปราจีนบุรี กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล นราธิวาส
กลุ่ม 2 ประกอบด้วย แพร่ น่าน พะเยา พิจิตร ยโสธร ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี สระแก้วจันทบุรี ตรัง ยะลา พิษณุโลก สุโขทัย เลย ราชบุรี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทลุง ปัตตานี
กลุ่ม 3 ประกอบด้วย กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ มหาสารคาม สงขลา เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ลำปาง กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้ใช้ระบบติดตามประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ มาใช้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมิน การใช้จ่ายงบประมาณต่อโครงการดังกล่าว ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2562.