xs
xsm
sm
md
lg

“หม่อมกร”ถามใครวางยา รมว.พลังงาน ขวางกิจกรรม“ผีเสื้อกระพือปีก”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี (แฟ้มภาพ)
“ม.ล.กรกสิวัฒน์” โพสต์แจงกลุ่มผีเสื้อกระพือปีกจัดกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น รณรงค์เพื่อราคาแก๊ส - น้ำมันที่เป็นธรรม 19-28 ต.ค.จากลพบุรี ถึงทำเนียบฯ เพื่อรับทราบความเห็นจากรัฐบาล และให้ประชาชนตื่นปัญหาราคาพลังงาน แต่กลับมีคนขัดขวาง กล่าวหาว่าจะล้มรัฐบาล ไม่เชื่อว่าจะเป็นคำสั่งของ“สนธิรัตน์”เพราะเป็นคนใจกว้างรับฟังเหตุผล แต่มีคนไม่หวังดีทำเรื่องให้บานปลาย วอน รมว.พลังงานให้การต้อนรับ นำปัญหาไปพิจารณาแก้ไขเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง

วันนี้(22 ต.ค.) เมื่อเวลา 18.20 น.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต และนักเคลื่อนไหวด้านการปฎิรูปพลังงานไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก <(https://www.facebook.com/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A3-605419889485777/" CLASS="innerlink" TARGET="_blank">คุยกับหม่อมกร ในหัวข้อ “ใครวางยารัฐมนตรีพลังงาน?”

ตามที่กลุ่มผีเสื้อกระพือปีกได้จัดกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น รณรงค์เพื่อราคาแก๊ส - น้ำมันที่เป็นธรรม ในวันที่ 19 - 28 ตุลาคม 2562 จากลพบุรี ถึงทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับทราบความเห็นจากรัฐบาลในประเด็นดังกล่าว ซึ่งเป็นลักษณะการเดิน วิ่ง ปั่น เพื่อสุขภาพเพื่อให้พี่น้องประชาชนตื่นรู้ในปัญหาราคาพลังงานซึ่งหัวข้อการรณรงค์ก็สอดคล้องกับรายงานของ สปช. วาระปฏิรูปที่ 10 ระบบพลังงาน (หน้า 4) ที่ระบุว่า “การกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ณ โรงกลั่น ด้วยการประกาศราคาอ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ในบริบทที่ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิด้วยกำลังการกลั่นน้ำมันมากกว่าความต้องการในประเทศ เป็นแนวทางที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันและไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค”

การเดินรณรงค์ของกลุ่มผีเสื้อในครั้งนี้จึงไม่ใช่การประท้วง คัดค้าน หรือต่อต้านรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะหากรัฐบาลรับไม้ต่อ ก็จะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลให้อยู่กันยาว ๆ เลยทีเดียว

กิจกรรมนี้กลุ่มผีเสื้อฯ ได้มีแจ้งขออนุญาตและประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไว้ล่วงหน้า โดยฝ่ายราชการก็อนุญาตมาเรียบร้อยแล้ว และกลุ่มผีเสื้อฯ เองก็ได้แจ้งกติกาในการทำกิจกรรมว่า อย่าพกพาสิ่งผิดกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

แต่เมื่อเริ่มกิจกรรมก็เกิดปัญหา เช่น ที่ปรากฏตามเฟซบุ๊กเพจผีเสื้อฯ 20 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่สอง ของการเดิน สิ้นสุดที่วัดโพธ์แก้วนพคุณ จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งท่านเจ้าอาวาสได้มีเมตตาให้กลุ่มผีเสื้อฯ พักค้างแรมในบริเวณวัด ได้แจ้งว่า “มีเจ้าหน้าที่รัฐมากดดันเพื่อมิให้กลุ่มผีเสื้อฯ ได้ใช้สถานที่ ท่านจึงตอบไปว่า กลุ่มผีเสื้อฯ แค่มาขอพักอาศัย ไม่ได้มาทำมิดีมิร้าย ไม่ได้มาสร้างความเสียหายให้วัด เมื่อเป็นที่ของสงฆ์ โยมทั้งหลายจึงไม่มีสิทธิ์อะไรมาห้ามอาตมา”

ต่อมาในเช้าวันที่ 22 ตุลาคม ผมก็ได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนในกลุ่มผีเสื้อฯ แจ้งว่า สถานศึกษาแห่งหนึ่งที่อนุญาตให้กลุ่มผีเสื้อฯ พักค้างแรมนั้น ได้ติดต่อมาว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาพูดในทำนองว่า สถานบันการศึกษาแห่งนี้คิดจะล้มรัฐบาลหรือ? จึงให้ที่พักพิงแก่กลุ่มผีเสื้อฯ และขอให้อย่าสนับสนุนกลุ่มผีเสื้อฯ อีกต่อไป

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผมไม่เชื่อว่า จะเป็นคำสั่งการของรัฐมนตรีพลังงาน เพราะคุณสนธิรัตน์ท่านเป็นคนใจกว้างรับฟังเหตุผล และยินดีแก้ไขหากเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่า มีคนกำลังทำเรื่องนี้ให้บานปลายเพื่อเลื่อยขาเก้าอี้ของท่านรัฐมนตรี?

อีกทั้งในวันที่ 21 ตุลาคม คอลัมน์ อินไซด์ เศรษฐกิจของผู้จัดการออนไลน์ ได้ลงบทความชื่อ “ไขปัญหาราคาน้ำมัน ไทย-มาเลย์ อยู่ติดกันแท้ ๆ แต่ทำไมราคาต่างกันเกือบเท่าตัว!”

ผมอ่านแล้วรู้สึกแปลกใจเพราะ เป็นบทความที่บิดเบือนปัญหาราคาน้ำมันสำเร็จรูปไทยในหลายประเด็น เช่น

1) การอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดสิงคโปร์เพื่อขายคนไทย ก็ปกปิดเรื่องการบวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่มิได้มีการนำเข้าจริงเพราะกลั่นในประเทศไทย จึงกลายเป็นการประกันกำไรแบบลาภลอยให้แก่โรงกลั่นโดยมิได้เกิดจากการแข่งขัน แต่เมื่อส่งออกไปสิงคโปร์(เพราะไทยกลั่นได้ล้นเกินความต้องการ) กลับมีราคาถูกกว่าเพราะมิได้ใช้สูตรราคานี้ (สูตรราคาปรากฏตามรายงานมติ กบง. ครั้งที่ 8/2561 (ครั้งที่ 55) และ ครั้งที่ 23/2561 (ครั้งที่ 70))

2) ค่าการตลาด ก็ปกปิดเรื่องมิได้แจ้งว่าปั้มค้าปลีกได้เพียงประมาณลิตรละ 75 สต. ที่เหลือเป็นของบริษัทใหญ่ ซึ่งความจริงแล้ว ค่าการตลาดควรอยู่ที่ลิตรละ 1.25 บาท ก็เพียงพอแล้ว แต่ปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 2 - 4.50 บาท ซึ่งสร้างภาระเกินสมควรให้แก่ประชาชน

3) กองทุนน้ำมัน ที่ใช้อุดหนุนราคาเอทานอล ก็มิได้กล่าวถึงปัญหาการตั้งราคาเอทานอลสูงกว่าราคาตลาดโลกในสหรัฐฯ เกือบเท่าตัวทั้งที่เป็นผลผลิตจากในประเทศไทย 100% เงินกองทุนน้ำมันจึงถูกนำไปชดเชยให้แก่โรงกลั่นน้ำมัน เป็นการสร้างผลกำไรอย่างงามให้แก่โรงกลั่นและผู้ผลิตเอทานอลใช่หรือไม่? แต่เงินกองทุนฯ อาจไม่ถึงมือเกษตรกรใช่หรือไม่?

4) เรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันไทยและมาเลเซียที่แตกต่างกัน บทความดังกล่าวโยนปัญหาไปที่การเก็บภาษีและเงินกองทุนและอ้างว่ารัฐบาลมาเลเซียอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นการปกปิดข้อมูลทำให้ประชาชนผู้อ่านเข้าใจผิด ว่ารัฐบาลมาเลเซียเอาเงินภาษีมาอุดหนุนราคา

แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลมาเลเซียจะนำกำไรบางส่วนจากบริษัทปิโตรนาส (บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ) มาแบ่งปันให้แก่ประชาชนชาวมาเลเซียในฐานะเจ้าของทรัพยากร ผ่านราคาน้ำมันจึงเสมือนเป็นการปันผลจากบริษัทปิโตรนาส โดยไม่ต้องแปรรูปบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั่นเอง (ปรากฏตามข้อมูล รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่องธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ ภาค 5”การศึกษาเปรียบเทียบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมระหว่างไทยกับมาเลเซีย” วุฒิสภา)

เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดสุดท้าย ผมก็พบความจริงว่า บทความดังกล่าวมิใช่เป็นบทความจากบรรณาธิการของเว็บไซต์ดังกล่าว แต่เป็นการซื้อสื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งอาจเป็นผู้เสียประโยชน์จากการรณรงค์ของกลุ่มผีเสื้อฯ ใช่หรือไม่? จึงให้ข้อมูลบิดเบือนไม่ครบถ้วนและปกปิดชื่อผู้ผลิตข้อมูลดังกล่าว โดยทำรูปลักษณ์ให้คล้ายหน้าข่าวมากที่สุดเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และบทความดังกล่าวโยนบาปไปที่การเก็บภาษีของรัฐบาล ทั้งที่ความจริงแล้วปัญหาหลักอยู่ที่สูตรโครงสร้างราคาที่ทำให้บริษัทพลังงานได้กำไรแบบลาภลอยที่มิได้มาจากการแข่งขันนั่นเอง

ผมจึงขอเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้โปรดพิจารณาว่า ขณะนี้อาจมีผู้ไม่หวังดีกำลังทำเรื่องนี้ให้บานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ ผมเห็นว่า หากรัฐมนตรีให้การต้อนรับกลุ่มผีเสื้อฯ ที่เดินทางมาด้วยมิตรไมตรี นำปัญหาดังกล่าวไปพิจารณาแก้ไขก็ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลนี้ที่สามารถครองใจประชาชนทั้งประเทศเพราะจะทำให้ปัญหาข้าวยากหมากแพงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจากต้นทุนพลังงานบรรเทาลงได้





กำลังโหลดความคิดเห็น