รมช.กลาโหม ชี้แจงงบกลาโหม 2.33 แสนล้าน ไม่สูงหรือเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ เทียบจีดีพี ระบุเพิ่มมา 6 พันล้าน ใช้ดูแลสวัสดิการข้าราชการ-ซ่อมแซมยุทโธปกรณ์
วันนี้ (18 ต.ค.) พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาถึงการจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหม วงเงิน 2.33 แสนล้านบาท ว่าการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานไม่สูงหรือเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ หากพิจารณาตามระดับจีดีพี ที่ปี 2563 ได้รับงบประมาณเท่ากับ 7.29 ต่อจีดีพี ขณะที่ค่าเฉลี่ยต่องบประมาณ อยู่ที่ร้อยละ 1.3 และเมื่อพิจารณาตามอัตราการได้รับงบประมาณเฉลี่ยของกองทัพ ปี 2540 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ได้รับงบ อยู่ที่ 2.2 ของระดับจีดีพี หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของวงเงินงบประมาณ แต่หลังจากที่มีภาวะปัญหาเศรษฐกิจกระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณลดลงตามลำดับ และต่ำสุดเมื่อปี 2549 ที่ได้รับเพียง 1.1 ของจีดีพี และเมื่อเปรียบเทียบกับงบทหาร, งบความมั่นคงและกลาโหมของกลุ่มประเทศอาเซียนพบว่าจะมีค่าเฉลี่ยสากล อยู่ที่ 2.2 ของจีดีพี แต่ของไทยอยู่ที่ 1.3 ต่อจีดีพีเท่านั้น
“ช่วงที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมไม่ได้รับงบประมาณที่สูงผิดปกติ ส่วนงบประมาณที่เพิ่มขึ้นปีนี้กว่า 6,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดูแลสวัสดิการของข้าราชการ ปรับปรุงที่อยู่อาศัย และซ่อมแซม รวมถึงจัดหาเครื่องมือช่วยเหลือประชาชน ขณะที่งบประมาณเพื่อซ่อมปรับปรุงยุทโธปกรณ์มีเฉพาะที่ปรับปรุงส่วนที่ล้าสมัย ขณะที่การซื้อทดแทนยุทโธปกรณ์ที่ไม่สามารถหาชิ้นส่วน หรือซ่อมแซมได้ เป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพ และเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ คิดเป็น 1 ใน 3 กองกำลังที่มีทั้งหมด”
ทั้งนี้ ยุทโธปกรณ์ของกองทัพในอดีตได้รับสนับสนุนและช่วยเหลือจากมิตรประเทศ และจัดหาบางส่วน ยุทโธปกรณ์ เช่น เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ปัจจุบันอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป รถถังบางชนิดอายุการใช้งาน 40-50 ปี รถเกราะที่ใช้ ปัจจุบันมีอายุการใช้งาน 40 ปี เครื่องบินขับไล่ เอฟ 5 ที่กองทัพอากาศใช้มีอายุการใช้งาน 41 ปี เครื่องบินลำเลียง ซี 130 มีอายุใช้งาน 40 ปี ทั้งนี้ ยุทโธปกรณ์ที่มีอายุที่ใช้งานเกิน 30 ปี มียอดรวมคิดเป็นร้อยละ 58 ดังนั้น ในการจัดหาเพื่อทดแทนยุทโธปกรณ์ที่ชำรุดไม่สามารถซ่อมได้ มีเพียง 1 ใน 3 ของสิ่งที่มีทั้งหมด โดยกองทัพยังเน้นการปรับปรุง และซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ให้ใช้งานได้ต่อไป ทั้งที่ประเทศต้นกำเนิดไม่ใช้แล้ว แต่การจัดหาเท่าที่จำเป็น เพื่อสอดคลองกับการใช้กำลัง