xs
xsm
sm
md
lg

“ธีรยุทธ์”ชี้วิกฤติใหม่ความคิดแบบ“ความเมือง”ครอบงำคนไทย มองฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรู แนะทุกฝ่ายตั้งสติ รัฐบาลเร่งแก้ปากท้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ธีรยุทธ์”ร่ายยาวกับดักประเทศไทย ระบบคิดแบบ “ความเมือง”ครอบงำ มองฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรู ต้องทำลายล้าง ทหารขยายปัญหาความมั่นคงเกินจริง ทางแก้ต้องมองปัญหาให้กระจ่าง ตั้งสติอยู่ตรงกลาง เสริมความรู้สึกแบบเพื่อนมิตร รัฐบาลไม่ทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แนะ “ประยุทธ์” ทุ่มเทแก้ปัญหาปากท้อง ลดความเลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพคนทุกวัยรับมือเศรษฐกิจดิสรัปทิฟ



วันนี้(15 ต.ค.) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และมูลนิธิ 14 ตุลา จัดกิจกรรมรำลึก 46 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดย ศ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย ติดกับดัก ก่อวิกฤติใหม่ประเทศไทย”

ในการบรรยาย นายธีรยุทธ์ได้กล่าวถึงประเทศไทย 3 ยุคก่อนมาติดกับดักตัวเองตือ 1.ยุคพัฒนา พ.ศ.2505-2535 มีการการพัฒนาให้ก้าวขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมแถวหน้าของภูมิภาค พร้อม ๆ กับการพัฒนาประชาธิปไตย ยุคที่ 2.ยุคปฏิรูป ช่วงปี 2535-2557 เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจอย่างไร้สำนึกของนักการเมือง แต่การปฏิรูปกลับล้มเหลว แม้จะเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่มากของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ กปปส. มีการรัฐประหาร 2 หน สะท้อนว่าพลังอนุรักษ์ ระบบราชการ และกองทัพ ไม่พร้อมและไม่สามารถทำการปฏิรูปใด ๆ ได้

ยุคที่ 3. ยุคปัจจุบัน ปี 2557-2562 เป็นยุคติดกับดัก เพราะไม่สามารถพบเป้าหมายที่เป็นทางออกได้ แม้จะมีเป้าหมายหนึ่งคือ “ประชาธิปไตยที่กินได้” หรือนโยบายประชานิยมที่จับใจชาวบ้านจนกลายเป็นเสียงที่เหนียวแน่นของพรรคไทยรักไทย แต่ประชานิยมเป็นเพียงเครื่องมือของการเลือกตั้ง ไม่สามารถเป็นเป้าหมายของประเทศได้ และไม่ยั่งยืน ส่วนพรรคอนาคตใหม่มีฐานเสียงเป็นชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจระบบเก่า แต่ 2 พรรคนี้ยังไม่มีการเสนอยุทธศาสตร์แผนงานหลักที่จะนำพาประเทศข้ามความขัดแย้งนี้ไปข้างหน้า เน้นการจุดประเด็นซึ่งเป็นจุดขายของขบวนการประชานิยม และมักกลายเป็นความขัดแย้งกับฝ่ายรัฐ ส่วนพลังฝ่ายอนุรักษ์หรือทหารเอง แม้จะได้อำนาจมา 5 ปีเศษ แต่ก็ติดกับดักความคิดที่เน้นเฉพาะความมั่นคง

นายธีรยุทธ์ อธิบายถึงกระบวนทัศน์ใหม่ที่เข้ามาครอบงำคนไทย ว่า เป็นระบบคิดที่เรียกว่า “ความเมือง” เข้ามาแทนที่ระบบคิดแบบ “การเมือง” ทั้งนี้ นิยามคำว่า “การเมือง” เป็นพื้นที่การแข่งขันของความคิดที่ต่างกัน เป็นความไม่ชอบไม่พอใจหรือโกรธชังกันระหว่างบุคคลก็ได้ แต่ก็สามารถหาข้อสรุปโดยเสียงส่วนใหญ่ได้ แต่ทัศนะใหม่เรื่อง “ความเมือง”เป็นเรื่องการต่อสู้แบบรวมเบ็ดเสร็จของกลุ่มคนซึ่งมองอีกลุ่มในแง่เป็นพวกเรากับศัตรู เป็นความสัมพันธ์เชิงสงคราม ผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในท้ายที่สุดคือองค์อธิปัตย์ของกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นผู้นำรัฐหรืออำนาจทางกฎหมายก็ได้

นายธีรยุทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ากังวลที่ปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งกำลังรับกระบวนทัศน์แบบ “ความเมือง” ซึ่งมองพวกอื่นเป็นศัตรูที่ต้องล้มล้าง มาใช้แม้ในภาวะปกติซึ่งไม่ได้มีวิกฤติใดๆ ทำให้เราได้พบเห็นนักการเมืองกลายเป็น “นักความเมือง” พรรคการเมืองกลายเป็น “พรรคความเมือง” นักวิชาการกลายเป็น “นักโฆษณาความเมือง” ทหารฝ่ายความมั่นคงเป็น “ทหารฝ่ายความเมือง” เราได้เห็นนักเคลื่อนไหวความเมือง เริ่มต้นด้วยการมองการกระทำของอีกฝ่ายไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ใด ๆ เป็นภยันตรายร้ายแรง เป็นศัตรูที่จะต้องถูกทำลายลงไป ด้วยการขยายประเด็นเกินเหตุและผล

ระบบคิดแบบ “ความเมือง” ทำให้ความขัดแย้งขยายตัวน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ และบ่งชี้ว่ารัฐบาลกับทหารจัดการกับวิกฤติการผิดพลาด มองปัญหาใจกลางผิด และอาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่ร้ายแรง ทั้งนี้ เพราะทหารเอาค่านิยมของทหารเองในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบัน ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ยกให้เป็นปัญหาหลักของประเทศ ขณะที่ประชาชนทั้งประเทศก็ยึดอยู่ในค่านิยมนี้อยู่แล้ว ส่วนที่อาจจะไม่ชื่นชม ติติงสถาบัน เป็นเพียงส่วนน้อยไม่มีพลังที่เป็นนัยสำคัญเลย การที่กองทัพโยงประเด็นความมั่นคงเข้ากับสงคราม hybrid หรือสงครามที่ไม่จำกัดรูปแบบการต่อสู้ แต่ที่จริงแล้วสงครามที่ไร้รูปแบบมีมาตลอด ปัจจุบันทุกชาติพยายามโฆษณาชวนเชื่อแนวทางของตัวเอง เอาข้อมูลความลับทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารของกันและกันอย่างเป็นปกติ เพราะฉะนั้น การนำเอามาขยายภาพเกินจริงในภาวะปกติ มักจะทำให้ความรุนแรงขยายตัวและเกิดสงครามจริง ๆ ขึ้นในที่สุด

นายธีรยุทธ์ กล่าวว่า การเกิด “ระบบความเมือง” ในขณะนี้ มีการเคลื่อนไหวกว้างขวางจากหลายฝ่ายในสังคม ทั้งฝ่ายมวลชน การใช้สื่อออนไลน์ เฟกนิวส์ สื่อทางการ นักเคลื่อนไหว นักกฎหมาย หน่วยราชการ กองทัพ กระบวนการศาลฯ ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น เป็นวิกฤติใหม่ที่ควรกังวลและต้องช่วยกันให้ทุกฝ่ายคลี่คลาย ผ่อนความขึงตึงจนเกินไปลง

นายธีรยุทธ์ กล่าวถึงหนทางแก้ไข ว่า สังคมทั่วไปควรมองสถานการณ์ให้กระจ่าง ตั้งสติอยู่ตรงกลาง หรือเสริมพลังทางบวกที่จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคม เสริมความรู้สึกแบบเพื่อนมิตร รับเหตุผลที่เปิดกว้างหลากหลาย ก็จะไม่ไปช่วยเสริมกระแสพวกเรา-ศัตรูที่เกิดขึ้น ขณะที่ฝ่ายรัฐต้องธำรงความเป็นกลาง ไม่เข้าไปร่วมการใช้ “ความเมือง” ทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

นายธีรยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงรัฐประหารมีผลงานจับต้องได้จำนวนหนึ่ง คือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และการรักษาความสงบ ส่วนการปฏิรูประบบไม่เกิด การสร้างความสมานฉันท์ก็ไม่เกิด รัฐบาลประยุทธ์ซึ่งมาจากเลือกตั้งจะยิ่งทำงานลำบากกว่าเดิมมาก เพราะต้องจัดสรรผลประโยชน์ให้ทุกกลุ่มการเมือง ซึ่งในที่สุดจะต้องพึ่งพากลุ่มทุนใหญ่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าคนจำนวนมากยังต้องการให้ประเทศมีรัฐบาลบริหารงานไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ควรปรับปรุงวิธีการทำงาน เพราะการควบคุมประสานพรรคร่วมลำบากยากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ควรตั้งเป้าหมายระยะยาว แต่ต้องทำให้ได้ผลจริงจังสัก 2 เรื่องก็พอ

นายธีรยุทธ์ กล่าวว่า อย่างแรก การแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านอย่างจริงจัง เพราะปัญหาความเลื่อมล้ำมีสูง คนจน คนชั้นกลางก็ลำบาก การแก้ปัญหานี้ทำได้ยากแต่นายกก็ต้องทุ่มเททำ อย่างที่สอง คือการเพิ่มคุณภาพของคนในทุกวัยในด้านการศึกษาพัฒนาทักษะใหม่ อาชีพใหม่สำหรับเศรษฐกิจแบบ disruptive ที่เกิดขึ้นรวดเร็วในหลาย ๆ ด้าน ต้องใช้อำนาจบารมีของตัวนายกฯ ลงมือแก้ปัญหาเอง โดยแก้ปัญหาครบทั้งต้นน้ำปลายน้ำ เช่นต้องมีการประกันรายได้และการงานให้ และควรทำแบบเลือกสรรเฉพาะส่วน เพราะการปฏิรูปทั้งระบบใหญ่โตเกินไป ไม่สามารถทำได้จริง ถ้าทำเช่นนี้ ก็จะเป็นการเลือกลำดับความสำคัญได้ถูกต้องใกล้เคียงมากที่สุด

นายธีรยุทธ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีบารมีและมีฐานพอสมควรควรจะใช้เพื่อแก้วิกฤติดังกล่าว ออกมาพูดด้วยความเป็นผู้ใหญ่ให้ภาพสงบเรียบร้อย นุ่มนวล ปล่อยวางบางเรื่องบ้าง อย่าไปถือว่าเป็นการทำลายล้างทุกเม็ด จะทำให้ความแรงลดไป ขอฝากให้ พล.อ.ประยุทธ์ หรือทหารท่านอื่นๆ ในกองทัพเป็นเช่นเดียวกับนายชวน หลีกภัย หรือนักการเมืองชั้นผู้ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์บางคน ผู้ใหญ่ในวงการสื่อที่เป็นเสาหลักในสังคม น่าจะช่วยกัน

ส่วนจะมีการรัฐประหารอีกหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า อย่าเอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นความขัดแย้งในสังคม กลายเป็นเรื่องพิเศษของคนส่วนน้อยที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุที่ไม่มีใครคุมได้ อย่างขบวนการนักศึกษาก็เกิดไม่ได้ง่ายๆ หากกระบวนการยุติธรรมเราทำได้ดี ไม่มีการใช้ความเมืองเกินเหตุ มีความยืดหยุ่น คิดว่าจะไม่นำไปสู่ปัญหาแรงเกินไป



กำลังโหลดความคิดเห็น