xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ย้ำ รมต.ที่เป็น ส.ส.ลงมติได้ ระบุหากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ผ่าน รัฐบาลต้องลาออก-ยุบสภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“วิษณุ” ชี้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นกฎหมายสำคัญ ถ้าสภาฯ ลงมติไม่ผ่าน รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ลาออก-ยุบสภา แจงรัฐธรรมนูญ 60 ไม่ห้าม รมต.ที่เป็น ส.ส.ลงมติ แตกต่าง รธน.40 และ 50

วันนี้ (8 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ว่ารัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.สามารถลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้ ว่ามีการสงสัยกันในเรื่องดังกล่าวเพราะรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับเขียนไว้ไม่เหมือนกัน แต่เราได้ทำความเข้าใจแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสามารถลงมติได้ ทั้งนี้ เกิดจากความเคยชินเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2540 ระบุว่า เมื่อ ส.ส.มาเป็นรัฐมนตรีจะต้องลาออกจาก ส.ส.ภายใน 30 วัน ฉะนั้นจะเหลือแต่ความเป็นรัฐมนตรี ไม่สามารถไปโหวตอะไรในสภาฯ ได้ ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนอีกแบบหนึ่งว่า ส.ส.เป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องลาออก แต่รัฐมนตรีจะลงมติในเรื่องที่ตนมีส่วนได้เสียไม่ได้ จึงทำให้รัฐมนตรีหลายคนที่เป็น ส.ส.ไม่กล้าโหวตในเรื่องงบประมาณ และไม่กล้าโหวตในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวเอง แต่เมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส.ส.เป็นรัฐมนตรีในเวลาเดียวกันได้ และไม่ได้ระบุเหมือนแต่ก่อนว่าจะลงมติในเรื่องที่ตนมีส่วนได้เสียไม่ได้ ประเด็นนี้ถูกตัดออกไปแล้วซึ่งก็แปลว่าสามารถลงมติได้ แต่โดยมารยาทแล้วในการลงมติไม่ไว้วางใจตัวเอง ไม่ควรจะลงมติ แต่ในเรื่องการเสนอกฎหมายจะเป็นเรื่องงบประมาณหรือกฎหมายอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่เป็นเรื่องมีส่วนได้เสียส่วนตัว แต่เป็นส่วนได้เสียส่วนรวม ฉะนั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม และโดยสรุปก็มีรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.มีความสงสัยอยู่ 19 คน สามารถลงมติในเรื่องงบประมาณเช่นเดียวกับลงมติในเรื่องอื่นๆ ได้

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับรัฐมนตรีอย่างไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า นายกฯ ก็บอกให้รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน ด้วยเหตุว่าในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี จะเป็น ส.ส.หรือไม่เป็น ส.ส.ก็ตาม ก็ต้องเข้าประชุม เพราะเป็นเรื่องงบประมาณ หากมีการสอบถามเรื่องของกระทรวงใดก็สามารถที่จะช่วยอธิบายได้ โดยเฉพาะในวาระที่หนึ่ง ขณะเดียวกัน นายกฯ ยังกำชับว่าจะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เอาไว้พิจารณาในชั้นแปรญัตติ จึงขอให้ผู้แทนรัฐบาลที่มีอยู่ 15 คนที่จะไปเป็น กมธ.ควรเป็นคนที่มีเวลาว่างเป็นหลัก ไม่ใช่ไปเป็นโก้ๆ หลายคนคิดว่าการไปเป็น กมธ.งบประมาณเป็นเกียรติยศ แต่ความจริงต้องนั่งประชุมตลอดเวลาถึง 60 วัน เพราะจะต้องพิจารณากฎหมายยาวนานที่สุด และแม้จะไม่ได้ทำหน้าที่ประธานหรือรองประธานก็ถือเป็น กมธ. โดยที่ประชุมจะต้องดูไปทีละมาตรา ส่วนรายชื่อรัฐมนตรีที่จะมาเป็น กมธ.ในส่วนรัฐบาลยังได้รายชื่อไม่ครบ แต่ได้ 3 รายชื่อที่จะเป็นตัวแทนหลัก ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลัง ในส่วนที่เหลือจะให้แต่ละพรรคการเมืองไปหาและนำมาเสนอโดยไม่ต้องนำรายชื่อเข้า ครม.อีก แต่ให้แจ้งไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เพื่อประสานกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) โดยรายชื่อไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรี เพราะมีจุดอ่อนที่อาจจะไม่มีเวลาไปนั่งเป็น กมธ.

เมื่อถามย้ำว่า การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ สภาฯ ได้แจ้งมาหรือไม่ว่าจะใช้เวลากี่วัน นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลเป็นฝ่ายเปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาในวันที่ 17 ตุลาคม และปิดประชุมวิสามัญฯในวันใดวันหนึ่ง คาดว่าจะมีเวลารวมกันทั้งหมดประมาณ 3-4 วัน ซึ่งก็ต้องไปแบ่งกันเอง ถ้า ส.ว.ไม่เอา ส.ส.ก็ได้ไปทั้งหมด แต่ถ้า ส.ว.เอา ก็ต้องเหลือให้ ส.ว.สัก 1 วันหรือครึ่งวัน ก็ขอให้วิปรัฐบาลไปตกลงกันเอง แต่ ส.ว.ก็ขอเวลาไว้แล้ว เพราะเขามีเรื่องที่จะต้องทำเหมือนกัน ไม่มีปัญหาอะไร แต่อย่างน้อยเบื้องต้น 2 วันอยู่แล้ว ตรงกับวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ ถ้าเลยจากนั้นก็เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์

เมื่อถามว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ถ้าหากไม่ผ่านสภาฯ จะมีผลอย่างไรกับความรับผิดชอบทางการเมืองและทางกฎหมาย นายวิษณุกล่าวว่า หลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีอยู่แล้วว่าอะไรก็ตามที่สภาฯ เสียงข้างมากไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลนั้นก็ไม่พึงจะอยู่ต่อไป ซึ่งการไม่ไว้วางใจนั้นแสดงออกได้ 2 อย่าง คือ 1. ไม่ไว้วางใจโดยเปิดเผย ตรงนี้ทำโดยการลงมติไม่ไว้วางใจ 2. ไม่ไว้วางใจโดยปริยาย จะแสดงออกจากการที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายสำคัญเข้าสภาฯ แล้วสภาฯลงมติให้ไม่ผ่าน ซึ่งก็แปลว่าสภาฯไม่ยอมให้เครื่องมือรัฐบาลไปทำงาน รัฐบาลก็ไม่ควรจะต้องอยู่ แต่วิธีที่จะไม่อยู่นั้นสามารถทำได้ 2 อย่าง คือ 1. ทำโดยรัฐบาลลาออก หรือ 2. ทำโดยออกด้วยกันทั้งคู่ เพราะการที่สภาฯ ไม่เห็นชอบนั้น ไม่รู้ว่าประชาชนเขาคิดอย่างไร จึงยุบสภาแล้วไปเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ ดังนั้น ทางออกสามารถทำได้ 2 อย่าง เป็นเรื่องทั่วไป ไม่ใช่เรื่องแปลก และเราก็ปฏิบัติอย่างนี้ตลอดมา โดยในอดีตก็เคยมีรัฐบาลที่ลาออกเพราะสภาฯ ลงมติไม่ผ่านกฎหมาย แต่ก็มีรัฐบาลที่ไม่ลาออกแม้สภาฯ ลงมติไม่ผ่านกฎหมายเช่นกัน เพราะถือว่าไม่ใช่กฎหมายสำคัญ แต่สำหรับกฎหมายงบประมาณนั้นเป็นกฎหมายสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น