xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มเกษตรกร บุก ปชป.ทวงสัญญา 7 ข้อ “จุรินทร์” จี้ดันเข้าวาระบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




เกษตรกรกว่า 500 ชีวิต บุกพรรค ปชป. ทวงสัญญา 7 ข้อ “จุรินทร์” หลังไม่เสนอเรื่องเข้าวาระที่ประชุมบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ ซัดไม่มีหัวใจการเป็นเกษตรกร ลั่นไม่ทำตามปักหลักชุมนุม

วันนี้ (7 ต.ค.) เมื่อเวลา 15.10 น. กลุ่มชาวเกษตรกรจากทั่วประเทศ จำนวน 500 คน นำโดย นายชุมพร จินตนาวสาร แกนนำเกษตรจังหวัดตาก ที่ปักหลักชุมนุมริมคลองประปา ข้างกระทรวงการคลัง ซึ่งชุมนุมมาแล้วกว่า 20 วัน ได้เดินเท้าข้ามถนนพระรามหก มายังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อทวงสัญญา 7 ข้อ จาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกร โดยก่อนหน้านี้ ได้ยื่นเรื่องผ่าน นายไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์) ถึง 2 ครั้งแล้ว ซึ่งก็ได้รับปากว่าจะบรรจุข้อเรียกร้องเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมบอร์ดของกองทุนที่จะมีการประชุมในวันที่ 8 ต.ค. นี้ แต่ปรากฏว่า จนถึงขณะนี้ในวาระการประชุมยังไม่มีเรื่องนี้บรรจุไว้

นายชุมพร กล่าวอีกว่า เท่าที่ติดตามพบว่า นายจุรินทร์ยังไม่เสนอเรื่องเข้าวาระที่ประชุมบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯเพื่อพิจารณา จึงอยากถามว่า นายจุรินทร์ ไม่มีหัวใจการเป็นเกษตรกรหรืออย่างไร และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ไม่เคยลงมาดูหรือเยี่ยมผู้ชุมนุมเลยทั้งที่ชุมนุมกว่า 20 วันแล้ว

นายชุมพร กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.กองทุนดังกล่าว มี นายชวน หลีกภัย ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการบริหารกองทุน ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์จากกองทุนนี้ แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้กับสถาบันการเงินของเอกชน ดังนั้น พวกตนจึงต้องออกมาเรียกร้องต่อพรรคประชาธิปัตย์ หากไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดใหญ่จะปักหลักชุมนุมอยู่ต่อที่พรรค แต่ถ้านำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมก็จะเดินทางกลับไปยังข้างกระทรวงการคลังเช่นเดิม

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ประกอบด้วย 1. หนี้สหกรณ์การเกษตรที่ฟ้องและกำลังดำเนินคดี ขอให้หยุดดำเนินคดีจนกว่ากองทุนฟื้นฟูฯ จะเข้ามาซื้อหนี้ 2. ขอให้เป็นคนกลางในการเจรจาหนี้สหกรณ์การเกษตร กรณีวัตถุประสงค์เข้าหลักเกณฑ์ที่กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถซื้อหนี้ได้ 3. ขอจำหน่ายหนี้สูญตามกฎกระทรวงการคลังกำหนด (กฎกระทรวงฉบับที่ 186 ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ พ.ศ. 2534) กรณีคุณสมบัติเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนด 4. หนี้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินคดี ขอให้ชะลอไว้จนกว่าจะได้รับการจัดการหนี้จากกองทุนฟื้นฟูฯ

5. กรณีหนี้ค้างชำระให้ชะลอทุกกรณี (หนี้ ธ.ก.ส.) 6. กรณีลูกหนี้เสียชีวิตห้ามไม่ให้หักเงินฌาปนกิจ (ลูกหนี้ ธ.ก.ส.) และ 7. กรณีขอกู้เงินกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน มีการประเมินล่าช้าและไม่ผ่านหลักเกณฑ์ของกองทุนหมุนเวียน








กำลังโหลดความคิดเห็น