xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.ถอนร่างกม.ล้มละลาย "ฟื้นฟูกิจการข้ามชาติ"พ้นกฤษฎีกา เหตุร่างอนุญาโตฯพาณิชย์ ฉบับยูเอ็นยังต้องศึกษาอีกนาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รมว.ยุติธรรม เห็นพ้องกฤษฎีกา ถอนร่างพรบ.ล้มละลาย "เกี่ยวกับต่างประเทศ" ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการระหว่างประเทศ หวังยกระดับตามมาตรฐานวิชาชีพ/จริยธรรมชั้นสูง สอดคล้องมาตรฐานสากล หลังพบการรายงานผล/จัดเก็บข้อมูลเป็นการนำ "UNCITRAL Model Law" หรือ "อนุญาโตตุลาการพาณิชย์ระหว่างประเทศ" ใช้บังคับคดีล้มละลายข้ามชาติ เป็นข้อเสนอระยะยาวของยูเอ็น จำเป็นต้องศึกษาโดยละเอียด

วันนี้ ( 6 ต.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อถอนร่างพระราชบัญัติล้มละลาย (ฉบับที่.) พ.ศ... (การล้มละลายเกี่ยวกับต่างประเทศ) โดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 24 ก.ย.ได้เห็นชอบให้ถอนร่างแล้ว

โดยการถอนร่างฯฉบับดังกล่าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายให้ความเห็นชอบ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีหนังสือตอบกลับมา หลังจากครม.มีมติเมื่อ 27 ธ.ค.2559 อนุมัติหลักการไปแล้ว

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีหนังสือตอบกลับมา หลังจากได้พิจารณาเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก พิจารณาว่าด้วย การล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ โดยในส่วนนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาฯ ได้ตรวจพิจารณาแล้วเสร็จ และกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจาบุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 12 ก ลงวันที่ 2 มีนาคม 2561

ส่วนที่สอง ว่าด้วย ส่วนการล้มละลายเกี่ยวกับต่างประเทศ โดยในส่วนนี้ได้มีผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ร. ชี้แจงว่า การรายงานผลการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับหลักการล้มละลายเกี่ยวกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นการนำ UNCITRAL Model Law หรือ ร่างกฎหมายแม่แบบอันซิทร็อลว่าด้วยอนุญาโตตุลาการพาณิชย์ระหว่างประเทศ ของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ มาใช้บังคับกับคดีล้มละลายข้ามชาติ เป็นข้อเสนอในระยะกลางถึงระยะยาว"

"ดังนั้น เพื่อให้การตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ..ในส่วนหลักการล้มละลายเกี่ยวกับต่างประเทศเห็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะขอเสนอร่างพระราชบัญญัติ ล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ ในส่วนของหลักการดังกล่าวในลำดับต่อไปก่อน"

สำหรับ หลักการของร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 โดยเพิ่มหมวด 9 กระบวนการล้มละลายหรือฟื้นฟูกิจการระหว่างประเทศ มาตรา 181/1 ถึงมาตรา 181/33 เพื่อเป็นการยกระดับการบังคับคดีล้มละลายให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมชั้นสูง

รวมทั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและรองรับการล้มละลายระหว่างประเทศตามกรอบของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการล้มละลายเกี่ยวกับต่างประเทศอยู่แล้วในมาตรา 177 และมาตรา 178 ของส่วนที่ 2 การล้มละลายเกี่ยวกับต่างประเทศ ในหมวด 8 บทบัญญัติเบ็ดเสร็จ จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายเรื่องนี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น