xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ไฟเขียวปรับใหม่ระเบียบใช้ “งบกลาง” เงินสำรองจ่ายฉุกเฉินฯ ปี 62 เริ่มบังคับใช้ในช่วงงบฯ ปี 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“บิ๊กตู่” ไฟเขียว ปรับใหม่ระเบียบใช้ “งบกลาง” รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2562 มีผลใช้บังคับ 1 ตุลาคม 62 ให้ถือปฏิบัติในปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นไป ย้ำไม่เป็นการเพิ่มขั้นตอนการขอ หรืออนุมัติให้ใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เผยปีงบฯ 63 ตั้งงบกลาง 518,770.9 ล้าน สูงกว่างบกลางปี 62 ถึง 47,238.9 ล้าน หรือ 10% ของคำขอรับงบปี 63

วันนี้ (2 ต.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (1 ต.ค.) มีมติรับทราบตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ซึ่ง สงป.ได้วางระเบียบขึ้นใหม่ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยมีหลักการและสาระสำคัญของระเบียบทำนองเดียวกับที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. กำหนดกรณีที่จะขอรับจัดสรรเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้สอดคล้องกับหลักการตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามมาตรา 20 (6) ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้ 1.1 เป็นรายจ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ 1.2 เป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง 1.3 เป็นรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว แต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว 1.4 เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการและต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว

ทั้งนี้ หน่วยรับงบประมาณต้องตรวจสอบแน่ชัดแล้วว่าไม่สามารถนำงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณมาใช้จ่ายได้ หรือนำมาใช้จ่ายได้แต่มีจำนวนไม่เพียงพอ

2. การขอรับจัดสรรงบประมาณ ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอเรื่องให้รองนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล หรือผู้ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นผู้กำกับแผนงานบูรณาการ แล้วแต่กรณี พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งคำขอให้สำนักงบประมาณ

สำหรับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมหรือกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการก่อน แล้วจึงส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ต่อไป

3. การจัดสรรงบประมาณ สำนักงบประมาณจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่หน่วยรับงบประมาณ ดังนี้ 3.1 กรณีวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท สำนักงบประมาณจะเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบ 3.2 กรณีวงเงินเกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท สำนักงบประมาณจะเสนอนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ 3.3 กรณีวงเงินเกิน 100 ล้านบาท สำนักงบประมาณจะเสนอนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อน เมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วจะแจ้งให้หน่วยรับงบประมาณเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ

4. การใช้จ่ายงบประมาณ เมื่อหน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรรแล้ว หรือดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วมีงบประมาณเหลือจ่ายต้องดำเนินการนำงบประมาณส่งคืน

5. การรายงาน หน่วยรับงบประมาณจะต้องรายงานผลการดำเนินการตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณต่อสำนักงบประมาณ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นไตรมาสและวันที่การใช้จ่ายงบประมาณแล้วเสร็จ รวมทั้งจัดทำสรุปผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ เพื่อเสนอรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล หรือผู้ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นผู้กำกับแผนงานบูรณาการกรณีเป็นการดำเนินการภายใต้แผนงานบูรณาการ แล้วแต่กรณี

6. กำหนดให้ระเบียบมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 และให้ถือปฏิบัติในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

7. ระเบียบฉบับนี้ ไม่เป็นการเพิ่มขั้นตอนการขอและการอนุมัติให้ใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่กำหนดไว้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี พ.ศ. 2559 โดยให้ใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว

สำหรับ “งบกลาง” ปีงบประมาณ 2562 ได้รับจัดสรร 471,532 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2563 มีการตั้งงบกลางไว้ที่ 518,770.9 ล้านบาท โดยสูงกว่างบกลางปี 2562 ถึง 47,238.9 ล้านบาท หรือ 10% ของคำขอรับงบประมาณปี 2563

รายละเอียดการใช้ “งบกลาง” ประจำปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 468,032 ล้านบาท เพิ่มจาก “งบกลาง 2561” ถึง 52,448.7 ล้านบาท

โดย “งบกลาง” ปี 2562 มีการนำไปใช้จ่าย ประกอบด้วย 1. เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 223,762 ล้านบาท เพิ่มจาก “งบกลาง 2561” ถึง 32,539.1 ล้านบาท 2. เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ 5,255 ล้านบาท ลดลงจากงบกลาง 2561 ถึง 20 ล้านบาท 3. เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิราชการ 11,490 ล้านบาท เพิ่มจากงบกลาง 2561 ถึง 1,551 ล้านบาท 4. เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 54,845 ล้านบาท เพิ่มจากงบกลาง 2561 ถึง 7,222 ล้านบาท 5. เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 700 ล้านบาท ลดลงจากงบกลาง 2561 ถึง 20 ล้านบาท

6. เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 500 ล้านบาท เท่าเดิมจากงบกลาง 2561 7. เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 90,000 ล้านบาท ลดลงจากงบกลาง 2561 ถึง 1,423.5 ล้านบาท 8. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 1,000 ล้านบาท เพิ่มจากงบกลาง 2561 ถึง 100 ล้านบาท 9. ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากราชดำริ 2,500 ล้านบาท เท่าเดิมจากงบกลาง 2561

10. ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานรัฐ 70,000 ล้านบาท เพิ่มจากงบกลาง 2561 ถึง 7,000 ล้านบาท และ 11. ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน 8,000 ล้านบาท เพิ่มจากงบกลาง 2561 ถึง 5,500 ล้านบาท

ล่าสุด ตามมติ ครม.ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีการอนุมัติงบกลางปี 2561-2562 ไปแล้ว เช่น วงเงิน 5,550,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากสาธารณภัย (กรณีอุทกภัย) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้แก่กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อให้การดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท เพื่อลดลูกหนี้รอการชดเชยของรัฐบาล ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงินของ ธ.ก.ส. ตามที่กระทรวงการคลังเสนองบกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมบัญชีกลางที่มีการจ่ายเงินสูงกว่าวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 45,100 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ รายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ เป็นต้น

งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 559,043,800 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภายใต้แผนงานบุคลากรภาครัฐ สำหรับเป็นค่าตอบแทนสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่พิเศษ และค่าตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ

งลกลางเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีอุทกภัย จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่กระทรวงการคลังอนุมัติให้ขยายระยะเวลาเบิกจ่ายเงินกันได้ถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนกันยายน 2562 เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท จำนวน 418,480 ครัวเรือน วงเงิน 2,092,400,000 บาท เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น