xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์จี้บอร์ดกองทุนประชารัฐแจ้งสถานะการเงิน “บัตรคนจน” พ่วงกระแสรายรับ-จ่าย หลังอัดฉีดแล้วกว่า 2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาพัฒน์จี้ “บอร์ดกองทุนประชารัฐ” แจ้งสถานะการเงินกองทุนฯ-กระแสเงินรับ-จ่าย-ผลสัมฤทธิ์กองทุนฯ หลังได้อัปเกรดเงินรอบใหม่ ระยะ 2 เดือน รวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท ใช้ประกอบการเสนอขอรับงบฯครั้งหน้า พร้อมแนะ ก.คลัง รายงานผล “โครงการบัตรคนจน” ต่อคณะรัฐมนตรีทุกไตรมาส เผยตลอดโครงการอัดฉีดเข้ากองทุนฯ แล้วกว่า 2 หมื่นล้าน

วันนี้ (30 ก.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ มีหนังสือให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน จำนวน 10,000 ล้านบาท เพิ่มเติมเข้า “กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม” โดย ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา

สภาพัฒน์เห็นชอบต่อการจัดสรร งบกลาง 10,000 ล้านเข้าสู่กองทุนประชารัฐฯ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กองทุนประชารัฐฯ เป็นกลไกขับเคลื่อน “โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับโครงการสวัสดิการแห่งรัฐเป็นนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล

“เห็นควรให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดทำรายงานสถานะทางการเงินของกองทุน และกระแสเงินรับ-จ่าย รวมทั้งรายงานผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานของกองทุนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในครั้งต่อไป และเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงการคลังรายงานผลการดำเนินงานของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อคณะรัฐมนตรีทุกไตรมาส”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา การประชุมครม.ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุมัติงบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากงบกลาง โดยการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเนื่องจากก่อนหน้านี้ในวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 เรื่องมาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 3 มาตรการวงเงินรวม 2.01 หมื่นล้านบาท แบ่ง

1. มาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้มีรายได้น้อย และรักษากำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากไม่ให้ทรุดตัวมากกว่าเท่าที่ควรจะเป็นในช่วงปลายปี 2562 บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรฯในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว โดยจ่ายเงินเพิ่มเติมให้ผู้ถือบัตรฯ จำนวน 500 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย. 2562) ใช้งบประมาณ 14,607.31 ล้านบาท

2. มาตรการมอบเงินช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไประหว่าง ส.ค.-ก.ย. ได้รับเบี้ยเพิ่มเติม 500 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท

3. มาตรการช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้รับสิทธิภายใต้โครงการอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการเลี้ยงดูบุตรของผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม 300 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยใช้งบประมาณ 494.80 ล้านบาท

โดยทั้ง 3 มาตรการ ครม.ได้เห็นชอบให้ใช้วงเงินคงเหลือในกองทุนประชารัฐสวัสดิการฯก่อนหากงบประมาณไม่เพียงพอให้กระทรวงการคลังเสนอของบประมาณจาก ครม.ต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้รายงานว่ามาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมาโดยใช้เงินกองทุนประชารัฐสวัสดิการฯ ขณะที่กองทุนประชารัฐสวัสดิการฯ ก็มีรายจ่ายประจำ ได้แก่ สวัสดิการพื้นฐานเพื่อลดค่าครองชีพ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นประจำทุกเดือน

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการมาตรการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถรองรับการดำเนินงานสำหรับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการแห่งรัฐในอนาคต จึงจำเป็นต้องขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม 1 หมื่นล้านบาทให้กับกองทุนประชารัฐสวัสดิการฯ โดยได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงบประมาณในแนวทางการจัดสรรงบประมาณจำนวนดังกล่าวแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น