xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติแก้ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ซื้อหนี้มีคนค้ำได้-ยืดเวลาปรับโครงสร้างหนี้อีก 5 ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
รองโฆษกรัฐบาล แถลง ครม.เห็นชอบแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร เปิดช่องซื้อหนี้ที่มีบุคคลประกันได้ พร้อมขยายระยะเวลาแก้ไขโครงสร้างหนี้เกษตรอีก 5 ปี

วันนี้ (24ก.ย.) เวลา 14.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ)กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ พ.ศ.2542 เนื่องจากกฎหมายขาดความยืดหยุ่นในบางมาตรา ส่งผลให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไม่สามารถรับภาระบางประเภทได้ ตลอดจนประเด็นปัญหาวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร รวมถึงการกำหนดที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และสาขาของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่กำหนดในกฎหมายยังไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกร

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า โดยมีสาระสำคัญในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ดังนี้ 1.แก้ไขเพิ่มเติมให้กองทุนพื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสามารถรับภาระหนี้และชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของเกษตรกรที่มีบุคคลค้ำประกันได้ จากเดิมที่จะรับภาระได้เฉพาะหนี้ที่มีทรัพย์สินค้ำประกันเท่านั้น 2.แก้ไขเพิ่มเติมวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรและกรณีการพ้นจากตำแหน่งตามวาระให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ และ 3.แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีอำนาจในการพิจารณากำหนดที่ตั้งสำนักงานใหญ่และสาขาของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ จากเดิมกำหนดให้ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งที่ดินมีราคาสูงมาก

น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า ครม.ยังเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการแก้ไขหนี้เกษตรกรตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร(คปร.)และโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตรออกไปอีก 5 ปี จากที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2562 ออกไปอีกถึงวันที่ 30 ก.ย.2567 โดยความจำเป็นที่ต้องขยายระยะเวลาดังกล่าวเนื่องจากโครงการปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรฯ เริ่มต้นในปี 2548 และมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ 180,947 ราย ต้นเงินกู้ 4,057.13 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา สามารถแก้ไขหนี้สินได้ 3,214.08 ล้านบาท หรือ 76.96 เปอร์เซ็นต์ของเกษตรกร 139,917 คน คิดเป็น 79.22 เปอร์เซ็นต์ ของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน เหลือที่ต้องแก้ไข 34,561ราย เงินต้น 793.32 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น