“บิ๊กป้อม” ไฟเขียวปรับแผนใช้งบเหลือ “บูรณาการจังหวัด/กลุ่มจังหวัด” ปี 62 รอบ 5 รวม 438 โครงการ/กิจกรรม วงเงิน 1,565.3 พันล้าน พบ “ภาคเหนือตอนบน 2” ล้มงานขายสินค้าอาเซียน จ.เชียงราย งบกว่า 10 ล้าน เหตุถูกร้องไม่ได้เชิญกลุ่มเป้าหมายร่วม โยก 17 ล้าน เข้าโครงการถอดบทเรียนแก้หมอกควันภาคเหนือในอนาคตแทน “แขวงทางหลวงชนบทเชียงใหม่” ปรับงบ 15.9 ล้าน ติดตั้งไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพ-พระตำหนักภูพิงค์ “เทศบาลนครภูเก็ต” ปรับงบ 15.1 ล้าน ระบบระบายน้ำท่วมคลองบางใหญ่ อ.ถลาง ไปปรับปรุงไฟจราจรบริเวณเขตเทศบาลฯ ด้านกลุ่มภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยดึงงบเหลือ ม.วลัยลักษณ์ จ่ายค่าปรับความเสียหายให้กับบริษัทเอกชนหลายโครงการ ตั้งแต่ปี 55-60 กว่า 1.82 ล้าน
วันนี้ (23 ก.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับแผนงานบูรณาการส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เห็นชอบให้ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ครั้งที่ 5 โดยเห็นชอบ ให้ปรับแผนฯ จำนวน 179 โครงการ/กิจกรรม วงเงินงบประมาณ 645.4695 ล้านบาท และกรณีการใช้จ่ายงบประมาณเหลือจ่าย จำนวน 259 โครงการ/กิจกรรม วงเงินงบประมาณ 919.9132 ล้านบาท โดยให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพหลักในแผนบูรณาการดังกล่าว
สำหรับโครงการ/กิจกรรมที่เห็นชอบให้แผนงานบูรณาการฯ ที่น่าสนใจ เช่น แผนงาน “ภาคกลางตอนล่าง 2” ปรับแผนพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวด่านสิงขร ช่องทางเลนจักรยาน ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 10,384,00 บาท มาเป็นโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งประมงท้องถิ่น และจัดทำแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ ซึ่งมีงบฯ เหลือจ่ายจากโครงการสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ 4.6 ล้านบาท
แผนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ยกเลิกโครงการบูรณษการการค้า การลงทุน เพื่อจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าในกลุ่มจังหวัด/กลุ่มประเทศ GMS และ ASEAN+6 วงเงิน 10,540,000 บาท ของสำนักงาน จ.เชียงราย เนื่องจากพบว่า กลุ่มเป้าหมายและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของโครงการฯ ไม่ได้ระบุการเชิญผู้ประกอบการจากกลุ่มดังกล่าวเข้าร่วมด้วย ซึ่งไม่มีความสอดคล้องกับหลักการและเหตุผลของโครงการ
“จังหวัดเชียงรายในกลุ่มนี้ ได้เสนอให้นำงบฯ ไปใช้กับโครงการแก้ไขปัญหาหมกควันไฟป่า เพื่อทดแทนเงินเหลือจ่ายและงบที่คืนโครงการ รวมกับงบที่ยกเลิกโครงการ รวม 17,260,410 บาท โดยนำงบดังกล่าวไปใช้ในโครงการถอดบทเรียนแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหมอกควันในอนาคต”
แผนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 สำนักงานจังหวัดสุโขทัย ขอเป็นเจ้าภาพหลักและมีหน่วยงานร่วม ในการดำเนินการโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาและสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง เพื่อสนับสนุนและขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยอำเภอเมืองฉะเชิงเทราขอปรับแผนโครงการก่อสร้างแพเหล็ก ขนาด 6.1 x 8 เมตร 2 แพ และ 6.1 x 5 เมตร 1 แพ ตามโครงการท่องเที่ยวทางน้ำ แม่น้ำบางปะกง วงเงิน 3 ล้านบาท หลังจากพบว่ารูปแบบเดิมเพียงแพเดียวไม่สามารถการได้จึงปรับเพิ่มดังกล่าวโดยใช้งบฯเท่าเดิม
จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ขอรับเงิน 15 ล้านบาท พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว วัดกู่ดินขาว ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาพุทธสถานในเขตวนสัตว์เชียงใหม่ โดยปรับงบจากโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่ และโครงการส่งเริมและพัฒนาศักยภาพแหล่งทองเที่ยวเชิงธรรมชาติ เนื่องจากหน่วยงานเจ้าของโครงการยกเลิกโครงการ
ด้านแขวงทางหลวงชนบทเชียงใหม่ ขอปรับงบ 18.8 ล้านบาท ดำเนินการก่อสรางสะพานข้ามคลองชลประทาน เข้าสู่วัดป่าดาราภิรมย์ ต.ริมใต้ อ.แม่ริม โดยได้งบจากการยกเลิกหลายโครงการจากแผนก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก นอกจากนั้นยังมีโครงการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างทางหลวงชนิดประหยัดพลังงานเส้นทางขึ้นดอยสุเทพ-พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ วงเงิน 15.9 ล้านบาท โดยปรับจากงบโครงการถนนลาดยางและโครงการที่ยกเลิกหลายโครงการ
จ.นครราชสีมา โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ขอปรับงบ 2.74 ล้านบาท ดำเนินการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำเชียงไกร (ลำน้ำสาขาแม่น้ำมูล) และเพื่มพื้นที่สีเขียวรืมฝั่งมูล โดยปรับงบจากโครงการป้องกันแก้ปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ของ อ.วังน้ำเขียว จ.พระนครศรีอยุธยา ปรับงบจัดซื้อเรือกำจัดผักตบชวา 2 ลำ 1 ล้านบาท มาเป็นจัดจ้างประกอบเรือ 9.5 แสนบาท และจ้างดำเนินการ 5 หมื่นบาทแทน จ.พะเยา ขอปรับงบก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนเทศบาลเมืองพะเยา 4.91ล้านบาท โดยยกเลิกการสร้างฝายชุมชน 5 ฝาย
จังหวัดภูเก็ต โดยเทศบาลนครภูเก็ต ขอปรับงบ 15.18 ล้านบาท จากโครงการปรับปรุงฐานเขื่อนกันดินคลองบางใหญ่ โครงการระบบระบายน้ำท่วม อ.ถลาง เนื่องจากคำนวณราคากลางคลาดเคลื่อน มาเป็นโครงการปรับปรุงไฟจราจรบริเวณแยกภายในเขตเทศบาล บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ (สวนหลวง) ในเขตเทศบาลนคร ถ.เจ้าฟ้า อ.เมืองฯ จ.ภูเก็ต
ส่วนกรณีขอใช้เงินเหลือจ่าย เช่น แผนงานภาคกลางตอนล่าง ให้ปรับแผน จ.ราชบุรี งบประมาณ 1 ล้านบาท แผนพัฒนาพุน้ำร้อน อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และพัฒนาอุทยานเขางู กว่า 1.1 ล้านบาท มาให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.ราชบุรี จัดกิจกรรมมหัศจรรย์พรรณไม้ภาคตะวันตก ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.บ.ภ. อย่างกลุ่มจังหวัดนี้มีการปรับจำนวน 4 โครงการ 9 กิจกรรม วงเงิน 9.3 ล้านบาทเศษ
กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง “นครชัยบุรินทร์” เหลืองบประมาณกว่า 25 ล้านบาท ดำเนินการกิจกรรมใหม่ เช่น พัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว ฝึกอบรมหลักสูตรความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและกีฬา โครงการปัายจักรยาน ทัวร์ ออฟ นครรราชสีมา โดยส่วนใหญ่ปรับจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำหลายพื้นที่
ในส่วนของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย พบว่า งบเหลือจ่ายนำไปเป็นค่าปรับความเสียหายจ่ายให้กับบริษัทเอกชนหลายโครงการ วงเงิน กว่า 1.82 ล้านบาท เช่น ค่าปรับโครงการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวมนต์เสน่ห์อ่าวไทยปี 2560, ค่าปรับโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง (งานระยะที่1) ปี 2559, ค่าปรับโครงการสร้างโลกสีเขียว ปี 2556, ค่าปรับโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศการผลิตปาล์มน้ำมันคุณภาพ ปี 2555, ค่าปรับโครงการยกระดับมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ปี 2554 และค่าปรับโครงการพัฒนาทะเลน้อย ปี 2560 โดยทั้งหมดใช้งบเหลือจ่ายโครงการพัฒนาถนนในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ ในรัฐบาลที่แล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ก่อนเปลี่ยนรัฐบาล