นายกฯ สั่งเคลียร์ใจรัฐมนตรี ปม รถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.22 แสนล้าน ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ก่อนดัน ครม. ชุดใหญ่ครั้งหน้า พร้อมปลดล็อก 44 โครงการเมกะโปรเจ็กต์ 7.82 แสนล้าน ครม.เศรษฐกิจ ฝันตั้งเป้าเบิกจ่าย 1.9 ล้านล้าน เผย 2 โครงการ ติดขัด มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ติดค่ากรรมสิทธิ์ ส่วน "ด่านเชียงของ" ติดค่าตอบแทน สปก. เล็ง ต้นเดือน ต.ค.ถก รอบส่งออก/ท่องเที่ยว/สรุปล้วงงบท้องถิ่น
วันนี้ (21 ก.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ ครม.เศรษฐกิจ ครั้งต่อไป ได้กำหนดประชุม โดยเลือกระหว่าง วันที่ 4 หรือ 7 ต.ค. 2562 หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางกลับจากเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ที่สหรัฐฯ (21-29 ก.ย.) ซึ่ง ครม.เศรษฐกิจ กำหนดวาระหารือเรื่องการส่งออก และการท่องเที่ยว จากนั้น ลำดับต่อไปจะได้หารือในเรื่องเอสเอ็มอี และการใช้งบประมาณท้องถิ่นเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันยังติดอุปสรรคเรื่องกฎเกณฑ์ต่าง ๆ
เมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) ที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจ ได้สรุปเรื่องที่หารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการลงทุนที่เป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ในการดูแลของกระทรวงคมนาคม จำนวน 44 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 1.94 ล้านล้านบาท เนื่องจากขณะนี้ยังพบว่าหลายโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว ยังติดปัญหาในบางขั้นตอนทำให้โครงการไม่สามารถเดินไปได้ตามแผน
" ครม. ได้รับทราบจากรายงานของคมนาคมว่า จาก 44 โครงการนี้ ประกอบด้วย ส่วนที่เริ่มต้นและดำเนินโครงการและเบิกจ่ายไปแล้วในปี 2561 รวม 2.10 แสนล้านบาท เบิกจ่ายในปี 2562 รวม 9.02 หมื่นล้านบาท อยู่ในแผนปี 2563 รวม 2.06 แสนล้านบาท และปี 2564 และระยะต่อไป 1.39 ล้านล้านบาท จากวงเงินทั้งหมดนี้ แยกเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน 2.59 แสนล้านบาท เงินกู้ 1.20 ล้านล้านบาท เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) 3.38 แสนล้านบาท และมาจากเงินรายได้หรือกองทุน 1.47 แสนล้านบาท"
จาก 44 โครงการที่แบ่งความคืบหน้าได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ โครงการที่ครม.อนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ 17 โครงการ วงเงิน 7.82 แสนล้านบาท โครงการที่ ครม.อนุมัติแล้วอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ 12 โครงการ วงเงิน 4.12 แสนล้านบาท โครงการที่คณะกรรมการพีพีพีอนุมัติแล้ว สำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เตรียมเสนอ ครม. วงเงิน 2.01 แสนล้านบาท โครงการที่จะเสนอ ครม. ระยะต่อไป 5.51 แสนล้านบาท
"สำหรับแผนเร่งรัดมากที่สุด คือส่วนที่ผ่านการอนุมัติของ ครม. ไปแล้ว โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการติดตามขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของ ครม.เศษฐกิจ ไปร่วมกันประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อปลดล็อกให้อุปสรรคเหล่านั้นคลี่คลาย เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงการต่าง ๆ ที่จะไปช่วยขับเคลื่อนหมุนเวียนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการและยังติดขัดมี 2 โครงการ คือโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีปัญหาเรื่องค่ากรรมสิทธิ์ต่าง ๆ ที่ต้องของบประมาณเพิ่มเติม หรือด่านที่ทำเรื่องการขนส่งสินค้าที่เชียงของ ที่จะมีเรื่องค่าตอบแทน สปก."
ส่วนโครงการที่ผ่าน ครม. แล้วและอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการก็ทราบว่าติดอุปสรรคอยู่ 6 โครงการ ส่วนโครงการที่ผ่านบอร์ดพีพีพีแล้วรอเสนอ ครม.ที่มีปัญหา คือ โครงการ Roadside station ของมอเตอร์เวย์เส้นทางนครปฐม-ชะอำ ยังติดอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
"ที่ ครม. ต้องนำเรื่องนี้มาหารือ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว เศรษฐกิจไทยเองได้รับผลกระทบ โดยการส่งออกเดือนล่าสุดยังคงลดลงต่อเนื่อง หัวใจตอนนี้จึงอยู่ที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่อยู่ในการดูแลของคมนาคม ถ้าเร่งได้จะนำไปสู่การเบิกจ่ายและมีงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ มีการซื้อวัสดุ มีการจ้างงาน สามารถดูแลเศรษฐกิจในภาพรวมได้" รายงานข่าวระบุ
มีรายงานด้วยว่า สำหรับ ประเด็นพิจารณาในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจที่สำคัญอีกเรื่องคือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่ต้องเสนอเข้า ครม.เศรษฐกิจเพราะเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนจำนวนมาก นายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการหารือในรายละเอียดของโครงการโดยละเอียดระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ชุดใหญ่ต่อไป
"ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเห็นความชัดเจนขึ้นมาก ประเด็นที่มีความกังวลใจก็ได้รับการดูแลอย่างเรียบร้อย มีการหารือใกล้ชิดกับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการหารือเพิ่มเติมอีกครั้งแต่คงไม่ต้องเข้า ครม.เศรษฐกิจอีก จากนั้นให้เสนอเข้า ครม.ชุดใหญ่ตามขึ้นตอนต่อไป"
สำหรับโครงการรถไฟสายสีส้มถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความสะดวกสบายของประชาชน รฟม.ประเมินว่าในช่วงแรกที่เปิดบริการ จะมีจำนวนผู้โดยสารจากฝั่งภาคตะวันออก 121,000 คนต่อวัน และในช่วงที่ก่อสร้างสายตะวันตกเชื่อมกับสายตะวันออกเสร็จสิ้นในปี 2569 คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 500,000 คนต่อวัน .