ฝ่ายค้านรุมถล่ม “บิ๊กตู่” ถวายสัตย์ไม่ครบ จงใจขัด รธน. ประสานเสียงจี้ลาออก “ปิยบุตร” ชี้เกิดจากโรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ “วันนอร์” แนะออกแล้วกลับมาใหม่ แถมได้แก้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ “ไพบูลย์” ป้องนายกฯ เป็นเลิศด้านความจงรักภักดี เรื่องการถวายสัตย์ฯ เป็นขอบเขตพระราชอำนาจ จวกฝ่ายค้านก้าวล่วง
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี วันนี้ (18 ก.ย.) หลังจากนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน อภิปรายเป็นคนแรกกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สมาชิกฝ่ายค้านได้ทยอยอภิปรายโดยพุ่งเป้าไปที่การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนของนายกฯ ที่นอกจากจงใจกระทำการขัดรัฐธรรมนูญแล้วยังเข้าข่ายจงใจขัดจริยธรรมทางการเมืองด้วย ทั้งหมดต่างประสานเสียงนายกฯ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่ชัดเจนคือนายกฯ กล่าวนำถวายสัตย์ฯ โดยตัดถ้อยคำสุดท้ายออกไป ทำให้เกิดปัญหา ครม.ถวายสัตย์ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ การถวายสัตย์คือการให้คำมั่นสัญญาต่อพระมหากษัตริย์ในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน กิจกรรมที่รัฐบาลทำหลังจากนั้นอาจมีปัญหาเป็นโมฆะได้ การถวายสัตย์ไม่ครบแสดงให้เห็นว่าอาจไม่เคารพสิทธิเสรีภาพประชาชน หรือไม่ดำเนินนโยบายตามที่รัฐบาลกำหนดหรือไม่ ดังนั้น หากนายกฯ ไม่กล่าวคำที่ขาดไป แสดงว่าฝ่ายค้านจะไม่สามารถเอาผิดรัฐบาลได้ เพราะไม่เคยให้สัญญาว่าจะทำตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่ให้คำมั่นสัญญาจะไว้ใจให้บริหารประเทศได้หรือไม่
“การให้คำมั่นเหมือนเป็นการขอลูกสาว เขารับปากว่าจะรัก แต่ไม่รับปากว่าจะดูแล นายกฯ ก็มีลูกเป็นผู้หญิง ถามว่า จะยกลูกสาวให้หรือไม่ การถวายสัตย์ไม่สมบูรณ์ต้องตีความรับหน้าที่ไม่ได้ หากปล่อยเวลาให้เนิ่นช้ายิ่งเสียหายมากขึ้น ทางออกเดียวคือนายกฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองที่สง่างามที่สุดด้วยการลาออก ซึ่งไม่ใช่การเสื่อมเสีย แต่เป็นการแสดงรับผิดชอบที่นานาประเทศทำกัน ไม่ต้องทำเป็นหนังสือ ให้ใช้ความกล้าหาญลุกขึ้นเปล่งเสียงชัดๆ ผมขอลาออก แสงสว่างจะเกิดกับประเทศทันที ทำให้คนไทยสักครั้งได้ไหม”
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กล่าวอภิปรายว่า หากนายกรัฐมนตรียอมรับว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วน ปัญหาต่างๆ ก็จะทุเลาเบาบางลง และสามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีด้วยการชะลอการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้ และถวายสัตย์ปฏิญาณรอบใหม่ให้ถูกต้อง แต่กลับนิ่งเฉยกว่า 2 สัปดาห์ แล้วจึงยอมรับว่าถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วน และยังใช้อำนาจตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเรื่องต่างๆ
นายปิยบุตรกล่าวว่า บุคคลจะเข้ารับหน้าที่ไม่ได้จนกว่าจะถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อน เป็นเงื่อนไขบังคับเพื่อเป็นเส้นแบ่งให้ชัดระหว่าง ครม.ชุดเดิมที่ทำหน้าที่ไปจนกว่าชุดใหม่จะเข้าทำหน้าที่ ทันทีหลังจากถวายสัตย์ปฏิญาณตนเสร็จสิ้นแล้ว และเป็นการยืนยันหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ด้วยคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” เพื่อยืนยันว่าบุคคลที่เข้าทำหน้าที่จะอยู่ภายใต้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่างเขียนคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนด้วยถ้อยคำเดียวกันทั้งสิ้น เพื่อเป็นการให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขได้ และยังยกความเห็นของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ในอดีต รวมถึงถ้อยคำในหนังสือหลังม่านการเมืองของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณตนว่าจะต้องเป็นไปโดยครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ
“พล.อ.ประยุทธ์เคยเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง พบว่ากล่าวนำถวายสัตย์ปฏิญาณตนได้ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ โดยใช้เอกสารบัตรแข็งถ้อยคำจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แต่การเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนครั้งล่าสุดกลับไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เมื่อประจักษ์ชัดว่าถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบตามมาตรา 161 อาจมีผลทำให้การถวายสัตย์ไม่สมบูรณ์ จึงเท่ากับว่าไม่มีการถวายสัตย์ เข้ารับหน้าที่ไม่ได้ การใช้อำนาจของ ครม.จึงไม่มีผลทางกฎหมาย ส่วนอีกความเห็นชี้ว่า ครม.เข้ารับหน้าที่ได้ เพียงแต่การถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบ ก็ต้องแก้ปัญหาเยียวยาได้ มิเช่นนั้นก็จะเป็นบรรทัดฐานกระทบไปถึงการถวายสัตย์ปฏิญาณตนในตำแหน่งหลังจากนี้”
นายปิยบุตรชี้ด้วยว่า เหตุที่เกิดขึ้นทำให้เกิด 2 โรค คือ อาการโรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ สะท้อนว่านายกรัฐมนตรีไม่ให้ความสำคัญต่อรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่และพยายามหาช่องโหว่ยกเว้นเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญเสมอ มองเพียงเครื่องมือในการปกครองของท่าน อันไหนได้ประโยชน์ท่านจะอ้าง แต่อันไหนเสียประโยชน์ท่านก็ไม่อ้าง เมื่อออกแบบรัฐธรรมนูญ 60 มาแล้วกลับไม่ทำตามและไม่แยแส และเป็นโรคความไม่รับผิดชอบต่อการเป็นผู้นำ ซึ่งนอกจากความรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่ที่สำคัญกว่าคือการควรกล่าวขอโทษต่อประชาชนและลาออกจากตำแหน่ง ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าวันหนึ่งก็จะรู้เอง ทำให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัย
นายปิยะบุตรได้ตั้งคำถามกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนจากกระดาษแข็งในกระเป๋าเสื้อด้านข้าง เป็นคำถวายสัตย์ที่เตรียมมาเองใช่หรือไม่ ได้เห็นข้อความใหม่ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ แล้วทำไมไม่อ่านถ้อยคำที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดเตรียมไว้ และหากมีรัฐมนตรีลาออกแล้วตั้งบุคคลใหม่เป็นรัฐมนตรีแทน จะนำรัฐมนตรีคนใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนด้วยข้อความอย่างไร จะอ่านตามรัฐธรรมนูญ หรืออ่านแบบวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา และตั้งคำถามถึงนายวิษณุว่าหากนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมีโอกาสถวายสัตย์ปฏิญาณตน แล้วกล่าวไม่ครบถ้วน สามารถทำได้หรือไม่ และจากที่ทำงานกับนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 คน เกือบสองทศวรรษ เคยเห็นการถวายสัตย์ปฏิญาณตนในลักษณะเดียวกันกับ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ และสามารถทำได้หรือไม่ตามรัฐธรรมนูญ
“ผมเคยเสนอทางออกให้นายกฯ ขอพระบรมราชานุญาตถวายสัตย์ปฏิญาณตนใหม่ให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ แล้วค่อยมีมติ ครม. เรื่องต่างๆ ใหม่อีกคร แต่เสียดายที่ท่านไม่ยอมรับข้อบกพร่องเพื่อหาทางแก้ร่วมกัน จึงย้ำชัดเจนว่าพล.อ.ประยุทธ์กล่าวนำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น จงใจละเมิดไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จึงเรียกร้องให้นายวิษณุยุติการให้ความเห็นและการให้ความช่วยเหลือในทางกฎหมายกับนายกฯ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง และรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ธำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข”
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยว่าการถวายสัตย์ฯครบถ้วนหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของสภาฯ ที่จะสอบถามข้อเท็จจริงจากนายกฯว่ามีการดำเนินการครบถ้วนหรือไม่ และจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ถ้าใครมีจิตสำนึกต่อประเทศชาติ ก็ขอแสดงตนเพื่อรับผิดชอบได้เลย
“การกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ที่ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ ย่อมต้องเป็นโมฆะเหมือนไม่มีการถวายสัตย์ฯ และเมื่อคณะรัฐมนตรีจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะเข้ามาตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงหรือไม่ เพราะการจะมีข้อยกเว้นที่ให้บุคคลไม่ต้องปฏิญาณหรือสาบานตนโดยหลักแล้วจะมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน เช่นที่ปรากฎในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งกำหนดให้บุคคลในบางกรณีไม่ต้องสาบานก่อนเข้าเบิกความในชั้นศาล” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าว
หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยกล่าวอีกว่า นายกฯ เคยทำการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญมาก่อน การที่ไม่ยอมกล่าวถ้อยคำเพื่อรักษา เป็นไปได้หรือไม่ที่จิตใต้สำนึกไม่ได้ยึดมั่นประชาธิปไตย และไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และอาจคิดทำการรัฐประหารอีก ถึงไม่ยอมถวายสัตย์ให้ถูกต้องครบถ้วน
“ตลอดเวลา 5 ปีของการเป็นนายกเคยบอกว่าคนไทยต้องยึดถือกฎหมายและก็เคยประกาศว่าจะปฏิบัติตามกฎหมาย จึงสงสัยว่าท่านจะยังทำอย่างนั้นหรือไม่ เพราะในเมื่อท่านกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนแล้วย่อมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หากปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินย่อมจะเกิดความเสียหาย ดังนั้น อยากให้ท่านแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ อภิปรายชี้ให้เห็นว่า การกระทำขัดรัฐธรรมนูญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าข่ายขัดต่อจริยธรรมร้ายแรง ฝ่ายค้านสามารถเข้าชื่อเพื่อร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ส่งเรื่องต่อคณะผู้ไต่สวนอิสระของศาลฎีกา หากศาลฎีการับคำร้อง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด จึงแนะนำให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง จะได้ไม่มีใครไปร้องต่อ ป.ป.ช.
“การลาออกยังช่วยให้ท่านโละปัญหาที่พะรุงพะรังอยู่ และยังสามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบได้ ตามกระบวนการของรัฐสภา ซึ่งจะเป็นผลดีในการปรับปรุงปัญหาเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลไปด้วย จากนั้นจึงค่อยนำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนอีกรอบให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ”
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า เท่าที่ฟังการอภิปรายของฝ่ายค้านไม่ใช่การตั้งคำถาม แต่เป็นการอภิปรายลักษณะตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐมนตรี และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญแม้จะไม่ใช่คำวินิจฉัยที่มีผลผูกพันโดยตรง แต่ก็มีสาระสำคัญที่ต้องรับฟัง โดยระบุว่าเป็นเรื่องขอบเขตพระราชอำนาจโดยเฉพาะ ไม่สามารถมีฝ่ายใดก้าวล่วงได้ เนื่องจากเป็นไปตามพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว ที่ให้นายกรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน และพระราชทานพระราชดำรัส เป็นการไว้วางพระราชหฤทัยแล้ว ดังนั้น ญัตติการอภิปรายที่เกิดขึ้นนี้จึงถือเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ
นายไพบูลย์ยังยกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไว้ว่า ไม่มีองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนี้ได้ จึงแสดงความเป็นห่วงฝ่ายค้านที่กำลังอภิปรายตรวจสอบนี้เข้าข่ายกระทำการโดยไม่มีอำนาจและอาจเป็นเหตุให้ถูกยื่นเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และถอดถอนจากตำแหน่งได้ แม้ว่าฝ่ายค้านจะพยายามยื่นเรื่องตรวจสอบไปที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และเรื่องไปถึงศาลฎีกา แต่สุดท้ายเรื่องก็อาจจะกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของตัวเอง คือไม่มีองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยเรื่องนี้ได้ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นหนึ่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
“พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเลิศเรื่องความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แม้พรรคฝ่ายค้านเป็นส่วนสำคัญในการตรวจสอบการทำงาน แต่ที่ต้องท้วงติงเพราะอยากเห็นการอภิปรายวันนี้เป็นไปในแนวทางที่ควรจะเป็น ไม่มีการกระทำอะไรที่อาจจะสุ่มเสี่ยง” นายไพบูลย์กล่าว